เผยกลยุทธ์ญี่ปุ่น เข้าตลาดเครื่องมือแพทย์ ชิงส่วนแบ่งหุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci สหรัฐฯ

เผยกลยุทธ์ญี่ปุ่น เจาะตลาดเครื่องมือแพทย์ ชิงส่วนแบ่งหุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci สหรัฐฯ

อัปเดตล่าสุด 1 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 1,723 Reads   

จากที่ประเทศไทยกำลังผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ตั้งเป้าให้ไทยเป็นฮับผลิตเครื่องมือแพทย์แห่งอาเซียนในปี 2570 นั้น ทาง M Report จึงนำกรณีศึกษาและวิธีคิดจากผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ในญี่ปุ่นมาแบ่งปันผ่านบทความนี้ 

ปัจจุบัน หุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่มียอดขายสูงสุดทั่วโลกคือ da Vinci Surgical System หุ่นยนต์ผ่าตัดจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งรายงานล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 เปิดเผยว่า มีการติดตั้งใช้งานแล้วทั่วโลกรวม 5,400 เครื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากเป็นระบบหุ่นยนต์ที่มีมาตรฐานสูง ขนาดเล็ก และมีความแม่นยำมากกว่ามนุษย์ จึงเหมาะสำหรับการผ่าตัดช่องท้องเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถขยับแขนในมุมที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ และมีปากแผลขนาดเล็ก เหมาะสำหรับเคสผู้ป่วยที่ต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีทักษะสูง ซึ่งไม่ได้มีบรรจุในทุกโรงพยาบาล 

แน่นอนว่าหุ่นยนต์ผ่าตัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาสูงมาก โดยรุ่นมาตรฐานของ da Vinci Surgical System มีราคาอยู่ที่ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีค่าบำรุงรักษาอยู่ที่ปีละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้หุ่นยนต์ผ่าตัดมีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายมีการเติบโตอย่างมั่นคงทั่วโลก

หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์

Mr. Takehiro Ando ประธานบริษัท A-Traction บริษัทร่วมทุนภายใต้ความดูแลของศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีการติดตั้งหุ่นยนต์ da Vinci Surgical System อยู่ราว 400 เครื่อง และใช้ผ่าตัดผู้ป่วยไปแล้ว 140,000 ราย ดังนั้น การจะเข้าสู่ตลาดเครื่องมือแพทย์ด้วยหุ่นยนต์จึงเป็นเรื่องยากเป็นอย่างยิ่ง และยอมรับว่าญี่ปุ่นไม่อาจแข่งขันกับเจ้าตลาดโดยตรงได้ โดยเฉพาะการสร้างความแตกต่างทางเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งสามารถสร้างความแตกต่างได้คือราคา โดยศูนย์วิจัยมะเร็งฯ ได้เลือกพัฒนาหุ่นยนต์ผู้ช่วยซึ่งสามารถทำงานได้เทียบเท่าแพทย์สองคน โดยรับหน้าที่การถือกระจก และเครื่องมือต่าง ๆ ผ่านการควบคุมของสวิทช์ด้วยเท้าของศัลยแพทย์ ซึ่งเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีด้วยรูปแบบที่แตกต่างไปจากหุ่นยนต์ผ่าตัด ทำให้การพัฒนาอาศัยเทคโนโลยีน้อยลง ส่งผลให้ราคาขายจริงลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งทางบริษัทคาดการณ์ว่า จะสามารถวางขายจริงได้ภายในปี 2021 ด้วยราคาที่ต่ำกว่า da Vinci Surgical System ถึงครึ่งหนึ่ง โดยอาศัยราคาที่ถูกลงนี้เป็นจุดขายว่า สามารถทดแทนแรงงานในโรงพยาบาลได้ 2 คนต่อ 1 เครื่อง และจะคุ้มค่าการลงทุนภายใน 4 - 5 ปี

หุ่นยนต์ Avatar ติดตั้งระบบเซนเซอร์

อีกกรณีตัวอย่างจาก RIVERFIELD บริษัทร่วมทุนภายใต้สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ซึ่งใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์รูปแบบคล้ายกับ Avatar Robots ติดตั้งในหุ่นยนต์ผ่าตัด เพื่อให้มือหุ่นยนต์จำลองการเคลื่อนไหว และถ่ายทอดความรู้สึกมายังมือของศัลยแพทย์ได้โดยตรง ซึ่ง Mr. Kotaro Tadano ประธานบริษัทแสดงความเห็นว่า ความแม่นยำของสัมผัสที่ได้เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการผ่าตัดเป็นอย่างมาก และเลือกใช้แรงดันอากาศในการควบคุมแทนมอเตอร์เพื่อให้สามารถผ่าตัดอวัยวะที่มีความบอบบางสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ da Vinci ยังทำได้ไม่ดีนักในปัจจุบันเพื่อสร้างความแตกต่าง โดยมีกำหนดวางขายในปี 2022 และมุ่งพัฒนาให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้ขนย้ายง่าย และตั้งเป้าให้เป็น “หุ่นยนต์ผ่าตัดเครื่องที่ 2 หลังจากโรงพยาบาลซื้อ da Vinci แล้ว”

หุ่นยนต์ติดตั้งระบบเซนเซอร์จาก RIVERFIELD

หุ่นยนต์ติดตั้งระบบเซนเซอร์จาก RIVERFIELD

หุ่นยนต์ตรวจเจาะชิ้นเนื้อ Zerobot

Okayama University เป็นอีกรายที่มุ่งพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ โดยเลือกพัฒนาเป็น “หุ่นยนต์ตรวจโรค” แทนหุ่นยนต์ผ่าตัด และออกแบบให้ทำงานคู่กับเครื่อง CT Scan เพื่อลดการสัมผัสรังสีของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งหุ่นยนต์จะทำหน้าที่เจาะชิ้นเนื้อ และฉายรังสีกำจัดเซลล์มะเร็งในขณะที่แพทย์ทำหน้าที่ตรวจผลการสแกน 

Zerobot หุ่นยนต์เจาะชิ้นเนื้อจาก Okayama University

Zerobot หุ่นยนต์เจาะชิ้นเนื้อจาก Okayama University

รองศาสตราจารย์ Takao Hiraki จากภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ แสดงความเห็นว่า การใช้หุ่นยนต์ จะช่วยให้การเจาะชิ้นเนื้อตรวจหาโรคมะเร็งทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งโครงการนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2022 และอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมลงทุนเพิ่มในขณะนี้

นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตรายอื่นที่พยายามสร้างจุดขายให้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ของตัวเอง เช่น Kawasaki Heavy Industries และ Sysmex Corporation ซึ่งตัดสินใจสู้ในตลาดหุ่นยนต์ผ่าตัดโดยตรง แต่เน้นพัฒนาให้แขนหุ่นยนต์ทำงานได้คล่องตัวกว่า 

โดยผู้ผลิตทุกราย มีความเห็นตรงกันเรื่องหนึ่งว่า การพัฒนาเครื่องมือแพทย์นั้น หากไม่สามารถทำให้ราคาถูกกว่าแบรนด์เจ้าตลาดได้ ก็จะไม่มีโอกาสชนะ และต้องคำนึงถึงการส่งออกด้วย จึงต้องศึกษาแนวทาง และมาตรฐานทางการแพทย์ในประเทศเป้าหมายให้ดีเสียก่อน ซึ่งสำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai เพิ่มเติมว่าปัจจุบัน ตลาดที่กำลังมีแนวโน้มการเติบโตคือภูมิภาคอื่น ๆ ยกเว้นอเมริกาและยุโรป เนื่องจากทั้งสองภูมิภาคมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและตลาดมีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว

ฟังเสียงหมอ ในฐานะ “ผู้ใช้เครื่องมือแพทย์” 

Mr. Masaru Ishida หัวหน้าศูนย์หุ่นยนต์ผ่าตัดจากโรงพยาบาล Saiseikai Yokohamashi Tobu ผู้มีประสบการใช้งานหุ่นยนต์ผ่าตัดคนไข้กว่า 800 ราย กล่าวแสดงความเห็นต่ออุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

Mr. Masaru Ishida หัวหน้าศูนย์หุ่นยนต์ผ่าตัดจากโรลพยาบาล Saiseikai Yokohamashi Tobu

“ปัจจุบัน เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของเครื่องมือแพทย์ทั่วโลกไม่ต่างกันมากนัก เนื่องจากการรักษาคนไข้ในช่วงหลังปี 2000 มานี้ไม่มีการพัฒนาที่เด่นชัด ยกตัวอย่างเช่น การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งทุกโรงพยาบาลมีวิธีการไม่ต่างกัน และการใช้หุ่นยนต์ก็มีส่วนที่เหนือกว่าคือความแม่นยำเท่านั้น ทำให้ช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง”

ด้วยเหตุนี้เอง Mr. Masaru Ishida จึงแสดงความเห็นว่า หากต้องการเอาชนะแบรนด์เครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ส่วนสำคัญที่สุดก็คือราคา เนื่องจากหากมีคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่มีราคาสูงกว่า โรงพยาบาลก็ย่อมเลือกซื้อของที่ถูกกว่า โดยยกตัวอย่างในกรณีหุ่นยนต์ผ่าตัดว่า ค่าบำรุงรักษาต่อปี คือปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่จัดหามาใช้

อีกปัจจัยคือความน่าเชื่อถือ โดยยกตัวอย่างว่า กล้องส่องภายในที่มีใช้ทั่วไปในปัจจุบันเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้หุ่นยนต์ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่แพทย์ส่วนมากคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ทำให้เมื่อจัดหาเครื่องมือใหม่มาทดแทนแล้วพบว่าทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม ก็จะทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือในเครื่องมือนั้น ๆ ไป 

และปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือเทคโนโลยี โดย Mr. Masaru Ishida แสดงความเห็นว่า ผู้ผลิตแต่ละรายย่อมมีองค์ความรู้ต่างกันออกไป จึงควรอาศัยจุดแข็งที่มีให้เป็นประโยชน์ เช่น ผู้ที่โดดเด่นในด้านเทคโนโลยีเซนเซอร์ ก็สามารถมุ่งพัฒนาเครื่องมือสำหรับตรวจร่างกาย หรือผู้ที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีขนาดเล็ก ก็อาจเลือกพัฒนาเครื่องมือแพทย์สำหรับอวัยวะภายใน หรือหลอดเลือด เป็นต้น

อ่านต่อ