คุณวีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ จากสกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น ผู้ผลักดันผลิตภัณฑ์ใหม่จากนวัตกรรมคนไทย

อัปเดตล่าสุด 22 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 1,774 Reads   

“จากผู้ผลิตแม่พิมพ์รถยนต์รายใหญ่ สู่เรือและมินิบัสอะลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์ใหม่จากนวัตกรรมคนไทยที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล”

เมื่อ Light Weight Aluminum Bus ภายใต้แบรนด์ “สกุลฎ์ซีบัส” เปิดตัวสู่ตลาด นำจุดเด่นจากนวัตกรรม ตั้งเป้าทดแทนรถตู้ปัจจุบัน ด้วยโครงสร้างตัวถังอะลูมิเนียมน้ำหนักเบา ทำให้ประหยัดน้ำมัน แข็งแรง ทนทาน  ไม่เป็นสนิมและไม่ผุ หลังคาไร้รอยต่อ น้ำไม่รั่วซึม ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตตัวถังแบบปั๊มขึ้นรูปทั้งคัน  รวมถึงใช้หุ่นยนต์เชื่อมประกอบตามมาตรฐานสากล 


ผลงานล่าสุดจากการต่อยอดนวัตกรรมของบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัทโชคนำชัย (CNC Group) ซึ่งก่อตั้งบริษัทแรกขึ้นเมื่อปี 2541 ในนาม บริษัท โชคนำชัย ออโต้เพรสซิ่ง จำกัด โดย คุณนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประกอบธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ก่อนขยับขยายเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยบริษัทในเครือ 6 บริษัท  ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตแม่พิมพ์โลหะอันดับหนึ่งของไทย และเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันมีพนักงานรวมกว่า 700 คน ตั้งอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี อยุธยา และชลบุรี

จากการวิเคราะห์และคาดการณ์สภาพตลาดยานยนต์ที่กำลังหยุดนิ่งและสภาพการแข่งขันที่เข้มข้น ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจไทยที่การลงทุนจากต่างชาติหยุดชะงักลงและไม่มีความแน่นอนในช่วงปี พ.ศ. 2559 จึงเป็นแรงกดดันให้กลุ่มบริษัทโชคนำชัยต้องฝ่าวิกฤติ ด้วยการนำความเข้มแข็งด้านวิศวกรรม เครื่องจักร และกำลังการผลิตที่มีอยู่ มาเปลี่ยนเป็นโอกาส โดยเลือกสร้างผลิตภัณฑ์จากโลหะสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอันเป็นองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะของบริษัทฯและ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีข้อจำกัดในตลาดเดิมมาผลิตแบบมาตรฐานอุตสาหกรรมและผลิตแบบจำนวนมากได้เพื่อตอบโจทย์ตลาดได้ 

โครงการผลิตเรือ มินิบัสและอื่น ๆ จากอะลูมิเนียมพร้อมแผนธุรกิจจึงก่อร่างสร้างตัวขึ้น โดย คุณวีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด จึงรับหน้าที่ในการผลักดันโครงการดังกล่าวจนสำเร็จ ‘เรือสกุลฎ์ซี’ นวัตกรรมอะลูมิเนียมที่มีความแข็งแรง คุณภาพสูง ขนาด19 เมตร 80-100 ที่นั่งเพื่อทดแทนเรือไม้และเรือไฟเบอร์กลาสเดิมในตลาด ได้ถูกสร้างขึ้นจากการนำเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์มาใช้ โดยการปั๊มและฉีดขึ้นรูปชิ้นส่วนขนาดใหญ่แบบไร้รอยต่อ การประกอบโดยใช้ตัวจับยึด (Jig) หุ่นยนต์ และกาวสมัยใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบนี้สามารถยกระดับด้านคุณภาพและจำนวนการผลิตในตลาดเดิมที่ใช้เวลา 10 เดือนผลิตได้  1 ลำให้เป็นผลิต 10 ลำใน 1 เดือนได้  และได้ออกสู่ตลาดในปี พ.ศ. 2561 และตามด้วย ‘สกุลฎ์ซีบัส’ รถมินิบัสน้ำหนักเบาตัวถังเป็นอะลูมิเนียมทั้งคันในปี พ.ศ. 2562 

“จุดเปลี่ยนของเรา คือเรื่องของความจริงจังในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เนื่องจากในหลายที่ อาจเจอปัญหาว่าเมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาในบริษัท ก็แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานจริงที่หน้างาน หรือความที่พนักงานและผู้บริหารไม่เชื่อมั่นในเทคโนโลยี   แต่ทางเราได้ยืนยันอย่างชัดเจนในการนำใช้เทคโนโลยี พร้อมติดตามรายงานผลที่ใช้จนสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้จริง และเห็นประสิทธิผลในที่สุด”

กลุ่มบริษัทโชคนำชัย ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการผลิต อย่างแรกคือ Forming Simulation ที่ถูกนำมาใช้พัฒนาการขึ้นรูป Advance Material นำมาซึ่งกระบวนการผลิตที่มีความเที่ยงตรงสูง ลดระยะเวลาในการทดลองแม่พิมพ์ให้สั้นลงจาก 1 ปี เหลือ 4 เดือน พร้อมใช้เครื่องมือวัด CMM และ Camera Scan ในการตรวจสอบคุณภาพชิ้นงานแทนการใช้คนตรวจสอบ ยกขีดความสามารถในการผลิตแม่พิมพ์ขึ้นรูปวัสดุชั้นสูง จนสามารถแข่งขันกับบริษัทชั้นนำในภูมิภาคเอเชียได้ 

ส่วนในการผลิตชิ้นส่วน ได้นำระบบ ERP มาใช้ในการจัดการและวางแผนการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ขององค์กร โดยเชื่อมโยงระบบงานขององค์กรทั้งหมดเข้าด้วยกัน ระบบนี้จึงเข้ามาควบคุมการผลิตต่าง ๆและมีการพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลต่อยอด จนทำให้สามารถวิเคราะห์ แนะนำ และตัดสินใจในการผลิตทั้งกระบวนการได้เป็นอย่างดี ซึ่งช่วยลดสต็อกที่เกินจำเป็น ของเสีย และชั่วโมงการผลิตให้น้อยลง พร้อมจัดทำรายงาน ทั้งแบบประจำวัน และประจำเดือน โดยอัตโนมัติ เพื่อส่งให้ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ระดับสูง  ระบบสามารถตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องในการ Input ข้อมูลจากคนทำงานจริงด้วยตัวเอง  ซึ่งการใช้เทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถใช้บุคคลากรที่มีประสบการณ์น้อยลงและสามารถควบคุมการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทางกลุ่มบริษัทโชคนำชัย ยังมีแผนการลงทุนในส่วนของระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ IoT เข้ามารวมไว้ในกระบวนการผลิตอีกด้วย ซึ่งจากทั้งหมดนี้เอง ที่กลายเป็นประสบการณ์และองค์ความรู้ให้กับกลุ่มบริษัทโชคนำชัย โดยเฉพาะความชำนาญด้าน Advanced  Material ซึ่งได้ถูกนำมาใช้พัฒนาต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผลิตภัณฑ์บางส่วนได้เริ่มทำการจำหน่ายไปแล้ว ในขณะที่อีกส่วนอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดเพื่อออกสู่ตลาด พร้อมมีแผนพัฒนาต่อไป 

“ที่ผ่านมา ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า ในด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้นั้น ประเทศไทยยังมีการพัฒนาในด้านนี้ค่อนข้างช้า เช่น ในขณะที่ต่างประเทศมีการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลายแล้ว ประเทศเรากลับยังอยู่ในขั้นริเริ่มนำมาใช้งาน โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีใหม่เป็นจำนวนมาก ผมจึงอยากเชิญชวนให้นำเทคโนโลยีที่ปัจจุบันมีอยู่ ไม่ว่าจะ IoT หุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติ เข้ามาใช้ในส่วนของการผลิต หรือการประกอบกิจการ เพื่อที่จะทำให้เราสามารถก้าวทันต่างประเทศได้”

จะเห็นได้ว่า ด้วยแนวคิดเช่นนี้ได้นำพาให้กลุ่มบริษัทโชคนำชัย ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ที่ได้มาตรฐานสากล และแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย