อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้นโยบาย Make in India

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้นโยบาย Make in India

อัปเดตล่าสุด 2 เม.ย. 2567
  • Share :
  • 367 Reads   

จากการที่อินเดียมีประชากรจำนวนมาก ทำให้อินเดียเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างด้านความเชื่อและศาสนา ความยากจน การว่างงาน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และการกระจุกตัวของแรงงาน นอกจากนี้ ในปี 2019 แรงงานส่วนใหญ่ของอินเดียยังอยู่ในภาคการเกษตร โดยแรงงานภาคการเกษตรสร้าง มูลค่าคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 16 ของ GDP ทั้งประเทศ ขณะที่แรงงานในภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.6 หรือสามารถสร้างมูลค่าได้เป็นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 49.88) ของ GDP ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลอินเดียจึงได้ริเริ่มนโยบายที่เรียกว่า “Make in India” ขึ้นโดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอินเดียให้ดีขึ้น

นโยบาย Make in India

2 เมษายน 2567 นโยบาย Make in India เป็นหนึ่งในนโยบายในการพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิด New India เมื่อปี 2018 เพื่อให้อินเดียก้าวสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจมูลค่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025 โดยส่งเสริมให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิตสินค้าในอินเดีย สร้างภาพลักษณ์สินค้าที่ผลิตในอินเดียให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก และเพื่อยกระดับอินเดียให้เป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของโลก” ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศปลายทางของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)

วัตถุประสงค์หลักของนโยบาย คือ ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและบริการด้านต่าง ๆ มุ่งเน้นการสร้างงาน เพิ่มพูนทักษะให้กับประชาชนอินเดียในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มมาตรฐานด้านอุตสาหกรรมและด้านอื่น ๆ ให้มีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีภายในประเทศ

นอกจากนี้ ภายใต้นโยบาย Make in India รัฐบาลอินเดียยังวางตำแหน่งให้อินเดียเป็นผู้เล่นที่แข่งขันได้ในระดับโลก โดยให้ความสำคัญด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Infrastructure) และการสร้างเครือข่ายดิจิทัล (Digital Network) เพื่อให้อินเดียกลายเป็นประเทศศูนย์กลางของประเทศทั่วโลกสำหรับแหล่งผลิตสินค้า เช่น รถยนต์ ซอฟต์แวร์ ดาวเทียม เรือดำน้ำ และเภสัชกรรม เป็นต้น

นโยบายนี้มีเสาหลักสำคัญ 4 เสาหลัก ได้แก่ 1) ความง่ายในการทำธุรกิจ 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ 3) การพัฒนาฝีมือแรงงาน และ 4) การวิจัยและพัฒนา โดยทั้ง 4 เสาหลักนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจอินเดียที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน รัฐบาลอินเดียจึงมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้

นโยบาย Make in India มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรม 25 สาขา ได้แก่ ยานยนต์ การบิน เคมีภัณฑ์ ไอทีและการจัดการกระบวนการ เภสัชกรรม การก่อสร้าง การป้องกันประเทศ การผลิตเครื่องจักรไฟฟ้า การแปรรูปอาหาร การผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้า การท่าเรือ การผลิตเครื่องหนัง การผลิตสื่อและความบันเทิง สุขภาพ การทำเหมืองแร่ การท่องเที่ยวและการต้อนรับ การทางรถไฟ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ น้ำมันและก๊าซ การผลิตพลังงานทดแทน เทคโนโลยีชีวภาพ อวกาศ พลังความร้อน ถนนและทางหลวง และระบบอิเล็กทรอนิกส์

 
 

นโยบายนี้มีเป้าหมาย คือ 1) เพิ่มการเติบโตของภาคการผลิตเป็นร้อยละ 12 -14 ต่อปี 2) เพิ่มจำนวนงานการผลิต 100 ล้านตำแหน่งภายในปี 2022 3) เพิ่มส่วนแบ่งของภาคการผลิตใน GDP เป็นร้อยละ 25 ภายในปี 2022 4) การพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับกลุ่มคนยากจนในเมืองและผู้อพยพในชนบท 5) การเพิ่มขึ้นของมูลค่าภายในประเทศและเทคโนโลยีในการผลิต 6) มีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และ 7) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของภาคการผลิตของอินเดีย ทั้งนี้ เป้าหมายที่ 1 2 และ 3 ไม่บรรลุผลในปี 2022

Make in India กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นโยบาย Make in India ให้ความสำคัญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 ด้าน ได้แก่ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์

- ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า

อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าของอินเดียมีความหลากหลายสูงและผลิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสูงและต่ำมากมาย มีการจ้างงานโดยตรงประมาณ 500,000 คน จัดหางานทางอ้อมอีก 1 ล้านคน และมีการผลิตเครื่องจักรเพื่อส่งกำลังไฟฟ้าอย่างครบวงจร นอกจากนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเทียบเท่ากับมาตรฐานระดับโลก โดยคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ไนจีเรีย จีน เคนยาและบราซิล

อุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนร้อยละ 8 ของภาคการผลิตของอินเดียทั้งหมด และมีสัดส่วนร้อยละ 1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินเดีย อุตสาหกรรมนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1) อุปกรณ์สร้างพลังงาน ได้แก่ หม้อไอน้ำ กังหัน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และ 2) ระบบส่งและจำหน่าย (T&D) รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทรานส์โฟเมอร์ สายเคเบิล สายส่ง สวิตช์เกียร์ ตัวเก็บประจุ มิเตอร์วัดพลังงาน หม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น โดยระบบส่งและจำหน่าย (T&D) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85 ของอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ในขณะที่อุปกรณ์สร้างพลังงานคิดเป็นร้อยละ 15 ของอุตสาหกรรมดังกล่าว

ตลาดของอุปกรณ์ไฟฟ้าในอินเดียมีการเติบโตที่โดดเด่น เป็นผลมาจากการที่อินเดียได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในผู้บริโภคและผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก นอกจากนี้ คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเติบโตของภาคพลังงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในอินเดีย

จากรายงานการวิเคราะห์ตลาดอุปกรณ์ไฟฟ้าปี 2023 – 2027 ของบริษัท Technavio ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก ได้คาดการณ์ว่า ขนาดตลาดอุปกรณ์ไฟฟ้าของอินเดียจะเติบโต 52.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราการเติบโต (CAGR) ของอุตสาหกรรมนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 11.68 โดยการเติบโตจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น การเพิ่มจำนวนโครงการอาคารที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนในภาคพลังงานที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น


หากพิจารณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้พบว่า ผลิตภัณฑ์สายเคเบิลเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนแบ่งของการเติบโตของตลาดสูงที่สุด และมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากการเติบโตของภาคครัวเรือนและภาคการค้าตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา รวมทั้งมีการสนับสนุนการผลิตและส่งออกสายเคเบิล และความต้องการของรัฐบาลในการใช้สายเคเบิลสร้างเมืองอัจฉริยะ 100 เมืองพร้อมทั้งการให้บริการ Wi-Fi ฟรีที่สถานีรถไฟ



- ด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมการออกแบบและการผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดีย (ESDM) เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดในระบบเศรษฐกิจ และกำลังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายในประเทศ เป็นผลมาจากจำนวนประชากรชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น รายได้หลังหักภาษีเพิ่มขึ้น และความต้องการของผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น12 นอกจากนี้ อินเดียยังถือเป็นหนึ่งในตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นแหล่งรวมของผู้ที่มีความสามารถจำนวนมากในด้านการออกแบบชิป
อิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ฝังตัว

อุตสาหกรรมนี้ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ระบบอัตโนมัติในสำนักงาน โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้า การบินและอวกาศ  การป้องกัน พลังงานแสงอาทิตย์ นาโนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ 

จากการที่อินเดียให้ความสำคัญกับอิเล็กทรอนิกส์โดยจัดตั้งนโยบาย Make in India ส่งผลให้กระบวนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศง่ายและสะดวกขึ้น และทำให้อินเดียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจด้านอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ใน 17 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก โดยรัฐบาลมีการคาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นจาก 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 - 2023 เป็น 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2026 นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดียจะมีมูลค่าถึง 520 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 และความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เป็น 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025

ผลกระทบนโยบาย Make in India ต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

นโยบาย Make in India มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้อินเดียเป็นประเทศชั้นนำด้านการผลิตสินค้ากลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก โดยอินเดียเริ่มลดการนำเข้าสินค้าบางกลุ่มจากประเทศคู่ค้ารวมถึงไทยและมีการใช้มาตรการภายใต้นโยบาย Make in India เพื่อควบคุมสินค้ากลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางกลุ่ม ซึ่งประกอบไปด้วย

- สินค้าเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2023 และวันที่ 4 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา อินเดียได้ประกาศนโยบาย Notification No. 23/2023 และ Notification No. 26/2023 ว่าด้วยการปรับปรุงนโยบายการนำเข้าสินค้าเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ (HS 8471) เฉพาะสินค้า 7 รายการ ได้แก่ สินค้าภายใต้พิกัดศุลกากร 84713010, 84713090, 84714110, 84714120, 84714190, 84714900 และ 84715000 ซึ่งครอบคลุมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แล็ปท็อป แท็บเล็ต และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (All-in-one PCs) ซึ่งกําหนดให้การนําเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่อินเดียต้องขอใบอนุญาตนำเข้า โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2023

หากพิจารณาประเทศคู่ค้าที่อินเดียมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวมากเป็นอันดับ 1 คือ จีน โดยในปี 2022 อินเดียมีมูลค่านำเข้าสินค้าเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติจากจีนสูงถึง 6,037 ล้านดอลลาร์สหรัฐ14 จึงอาจกล่าวได้ว่า มาตรการนี้จะส่งผลกระทบกับจีนอย่างมากต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว ในขณะที่มาตรการนี้อาจไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากไทยมีมูลค่าส่งออกที่น้อย

- สินค้าเครื่องปรับอากาศ

อินเดียได้ประกาศใช้มาตรการทางเทคนิค (Technical Barriers to Trade : TBT) กับการนำเข้าสินค้าเครื่องปรับอากาศที่มีสารทำความเย็นโดยการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังอินเดีย 
ผู้ประกอบการจะต้องส่งออกเครื่องปรับอากาศในรูปแบบที่ยังไม่มีการบรรจุสารทำความเย็นและต้องจ้างโรงงานของอินเดียในการบรรจุสารทำความเย็นแทนการบรรจุเอง จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับต้นทุนในการผลิตและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น



นอกจากนี้ มาตรการยังครอบคลุมถึงการส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศ โดยก่อนการส่งออกจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ของอินเดียตรวจสอบและรับรองโรงงาน รวมทั้งต้องมีการทำเอกสารรับรองก่อน ซึ่งมาตรการนี้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 แต่ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยบางรายไม่สามารถดำเนินการด้านเอกสารได้ทันเวลาที่มาตรการจะเริ่มบังคับใช้ จึงส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกเครื่องปรับอากาศไปอินเดียได้



 

ไทยถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของสินค้าเครื่องปรับอากาศ โดยในปี 2021 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 306 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2022 มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 391 ล้านดอลลาร์สหรัฐ17 จึงอาจกล่าวได้ว่า การประกาศใช้มาตรการอาจส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยในปัจจุบัน การหารือถึงปัญหาดังกล่าวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยกับอินเดียยังคงขาดผลสรุปที่ชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและบริษัทเอกชนไทยจึงยังคงต้องรับมือกับมาตรการที่เกิดขึ้นและ เตรียมความพร้อมกับมาตรการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

จะเห็นได้ว่า Make in India ส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของไทย เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรมของอินเดียยังไม่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำ ทำให้อินเดียยังคงจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการต้นน้ำและกลางน้ำของไทยในการส่งออกสินค้าไปยังอินเดียได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ในด้านการลงทุนที่มุ่งดึงดูด FDI จากต่างประเทศโดยการปรับกฎระเบียบการให้สิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในอินเดียโดยเฉพาะ 25 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขัน อาทิ เคมีภัณฑ์ พลังงานทดแทน และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

 

จัดทำโดย แผนกนโยบายและแผน ศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Intelligence Unit: EIU) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH