สหรัฐฯ - อียู เร่งเครื่องความร่วมมือเหล็ก อะลูมิเนียม ยกเลิก ม.232

สหรัฐฯ - อียู เร่งเครื่องความร่วมมือเหล็ก อะลูมิเนียม ยกเลิก ม.232

อัปเดตล่าสุด 5 พ.ย. 2564
  • Share :
  • 1,137 Reads   

สหรัฐฯ - อียู ยกระดับความร่วมมือเหล็กและอะลูมิเนียม หวังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหากำลังการผลิตล้นตลาด ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากยุโรปมีผลทันที 

Advertisement

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2021 คณะกรรมาธิการยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา บรรลุข้อตกลงระงับการเก็บภาษีสำหรับเหล็กและอะลูมิเนียม และเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเหล็กที่ยั่งยืนระดับโลกฉบับใหม่ (Global Arrangement on Sustainable Steel and Aluminium)

ความพยายามของอียู-สหรัฐฯ ครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือระดับโลกรายแรกเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตและการค้าเหล็กทั่วโลก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน พร้อมย้ำว่าข้อตกลงนี้เปิดกว้างสำหรับประเทศอื่น ๆ ที่มีหมุดหมายเดียวกัน

สิ่งที่จะส่งผลกระทบอย่างชัดเจน คือ การประกาศยกเลิกมาตรา 232 ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ซึ่งอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศใช้ในปี 2018 เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กร้อยละ 25 และสินค้าอะลูมิเนียมร้อยละ 10 ซึ่งการบรรลุข้อตลงในครั้งนี้จะทำให้ยุโรปสามารถส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ ได้โดยไม่เสียภาษี

ในขณะเดียวกัน ยุโรปก็จะยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งที่ถูกเก็บเพิ่มเติมเพื่อตอบโต้มาตรา 232 เช่น วิสกี้, เรือไฟฟ้า, และรถจักรยานยนต์ Harley-Davidson

คาดการณ์ว่า ข้อตกลงฉบับใหม่เพื่อการจัดการเหล็กที่ยั่งยืนระดับโลกของทั้งสองฝ่ายจะเริ่มเจรจาภายในปี 2024 เพื่อแก้ไขปัญหาก๊าซคาร์บอนฯ และปริมาณการผลิตส่วนเกินของเหล็กและอะลูมิเนียมทั่วโลก

เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า สหรัฐฯ จะมีการเจรจากับประเทศใดเพิ่มเติมบ้าง รวมถึงประเทศไทยซึ่งได้รับผลกระทบในส่วนนี้เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ จะมีการเจรจาเรื่องนี้เกิดขึ้นหรือไม่

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH