ฟังเสียงญี่ปุ่น ต่อท่าทีจีนและไต้หวันเข้าร่วม CPTPP

ฟังเสียงญี่ปุ่น ต่อท่าทีจีนและไต้หวันเข้าร่วม CPTPP

อัปเดตล่าสุด 25 ต.ค. 2564
  • Share :
  • 1,728 Reads   

ฟังเสียงหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งอย่าง “ญี่ปุ่น” ต่อ“จีน” และ “ไต้หวัน” ในการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ทั้งประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสองประเทศ ขณะที่การคานอำนาจจีนในหมู่สมาชิกหากได้รับการตอบรับก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ

Advertisement

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลายประเทศกำลังให้ความสนใจกับการยื่นสมัครเข้าร่วม CPTPP ของประเทศจีน และหลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ไต้หวันที่ได้ยื่นสมัครเข้าร่วม CPTPP เช่นกัน จึงเป็นที่จับตาว่าข้อตกลงนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

  • ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) คืออะไร คลิก

ในช่วงตั้งต้น CPTPP คือ TPP เวอร์ชันใหม่ที่มีหลายข้อตกลงว่าด่วยการพิทักษ์ผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามในปี 2017 สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจาก TPP เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เล็งเห็นว่าการดำเนินการในยุคอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีความล่าช้า และยังต้องใช้เวลาอีกมากจึงจะบังคับใช้ได้

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมีความเห็นว่า CPTPP เป็นความตกลงด้านเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แสดงความเห็นต่อการยื่นคำร้องขอเข้าร่วม CPTPP ของจีนว่า “เป็นการยื่นคำร้องจากคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด และการเจรจาต้องดำเนินต่อไป ”

" การยื่นคำร้องของจีนยังเป็นที่น่ากังวล เนื่องจากไม่แน่ชัดว่าจีนจะทำตามข้อตกลงของ CPTPP ได้หรือไม่ อีกทั้งยังทำให้เกิดความตึงเครียดในกลุ่มประเทศสมาชิก และประเทศคู่ค้าในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันอีกด้วย "

ปัจจุบัน จีนมีสถานะเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แสดงความเห็นว่า CPTPP มีประสิทธิภาพกว่า RCEP เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลดภาษีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ได้แสดงความเห็นว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าจีนจะยอมรับเงื่อนไขนี้หรือไม่

อีกความเคลื่อนไหวที่สร้างความกังวลให้รัฐบาลประเทศสมาชิก คือ ปัจจุบัน มีหลายประเทศสมาชิก CPTPP และรัฐบาลประเทศอื่น ๆ แสดงความต้องการอย่างชัดเจนให้สหรัฐอเมริกากลับมาเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากทางสหรัฐฯ  

Advertisement

Mr. Masakazu Tokura ประธาน Japan Business Federation แสดงความเห็นว่า CPTPP เป็นความตกลง FTA ที่มีประสิทธิภาพมากฉบับหนึ่ง แต่ก็มาพร้อมกับหลักการและเงื่อนไขการเข้าร่วมที่เข้มงวด และไม่เพียงแต่จีนและไต้หวันเท่านั้น แต่มีประเทศที่แสดงความสนใจอีกหลายประเทศ ทั้งไทย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย จึงได้แสดงความเห็นย้ำว่า CPTPP ควรรักษาความสำคัญของหลักการและเงื่อนไข มากกว่าที่จะสนใจในเรื่องการเติบโตของ GDP 

Mr. Akio Mimura ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า CPTPP เป็นความตกลงที่ใหญ่ที่สุดฉบับหนึ่งของโลก และญี่ปุ่นในฐานะประเทศสมาชิกควรรักษามาตรฐานในการเข้าร่วมเอาไว้

ความเห็นจากภาคธุรกิจ

ในอีกด้านหนึ่ง ภาคธุรกิจญี่ปุ่นต่างเรียกร้องให้รัฐบาลดึงสหรัฐอเมริกากลับเข้ามาใน CPTPP โดยเร็ว เนื่องจากหลายฝ่ายเล็งเห็นว่าหากสหรัฐฯ กลับเข้ามาจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนและไต้หวันยื่นคำร้องเข้าร่วมเช่นนี้

และในการประชุมนักธุรกิจญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2021 นี้เอง ที่ภาคธุรกิจสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้สหรัฐฯ กลับสู่ CPTPP ซึ่ง Mr. Nobuyuki Hirano ประธานสภาเศรษฐกิจญี่ปุ่น-สหรัฐฯ และที่ปรึกษาพิเศษของธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ UFJ กล่าวว่า "ภาคเอกชนญี่ปุ่นแสดงความเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้สหรัฐฯ กลับเข้ามาเป็นประเทศสมาชิก”

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ก็เช่นเดียวกับจีน คือ ในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว สหรัฐอเมริกาย่อมมีอำนาจในการต่อรองสูง จึงไม่แน่ชัดว่า ถ้าสหรัฐฯ กลับมาเข้าร่วมแล้วจะต้องปรับเปลี่ยนรายละเอียดความตกลงหรือไม่ และหากสหรัฐฯเคลื่อนไหว สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ก็ย่อมยิ่งทวีความรุนแรง จึงจำเป็นต้องติดตามท่าทีของรัฐบาลไบเด็นต่อไป

มุมมองต่อ CPTPP และ RCEP  

CPTPP เป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ที่มีจุดมุ่งหมายในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยการลดภาษีสินค้าและบริการของประเทศที่เข้าร่วม ส่งเสริมการเปิดเสรีการลงทุนและบริการ ไปจนถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ในด้านต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ 

ปัจจุบัน CPTPP ยังมีขนาดเล็ก และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยกว่า RCEP อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Motoshige Ito คณะสังคมศาสตร์นานาชาติ Gakushuin University ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศจากสถาบันการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ได้แสดงความเห็นว่าการเข้ารวมความตกลงเหล่านี้จะทำให้ประเทศมีรายได้จากภาษีสินค้านำเข้าลดลงจริง 

ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าหลังความตกลง RCEP เริ่มมีผลในเดือนมกราคม 2022 ญี่ปุ่นจะเสียรายได้จากภาษีสินค้านำเข้าราว 315,900 ล้านเยน หรือราว 2,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในทางกลับกัน จะเสียภาษีจากการส่งออกลดลงถึง 1,139,700 ล้านเยน หรือราว 9,997 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ RCEP ยังมีข้อยกเว้นด้านภาษีสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ทำให้เป็นความตกลงที่น่าสนใจสำหรับประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับ CPTPP แล้วพบว่า RCEP มีการลดอัตราภาษีน้อยกว่า การตัดสินใจจะเข้าร่วมความตกลงใดจึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนทั้งในแง่ข้อตกลง รายละเอียด และประเทศสมาชิก

ศาสตราจารย์ Motoshige Ito เสริมว่าในอนาคตหลังจากนี้ มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่านานาประเทศจะมีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจใหม่ ๆ ออกมาเพิ่มขึ้น และความตกลงเหล่านี้จะเป็นมาตรฐานใหม่ในศตวรรษที่ 21 นี้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความตกลงเหล่านี้ต้องใช้เวลา 5-10 ปีขึ้นไปจึงจะเห็นผลในด้าน GDP และคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน การเข้าร่วมจึงควรมองไปยังที่ผลประโยชน์ในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

นอกจากนี้ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจยังไม่ได้มีแต่ข้อดี ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความต้องการสูงและเติบโตต่อเนื่องทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเติบโตมากหากเข้าร่วม EPA อย่างไรก็ตาม นั่นก็หมายความว่าประเทศอื่น ๆ ที่สินค้ามีคุณภาพสูงกว่าสามารถแย่งส่วนแบ่งในตลาดไปได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ญี่ปุ่นมีแต่จะถูกแย่งส่วนแบ่งในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง แต่ศาสตราจารย์ Motoshige Ito ได้แสดงความเห็นเอาไว้ว่า
 

“ญี่ปุ่นเสียส่วนแบ่งจริง แต่เซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบันก็มีราคาถูกลง ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสมาร์ทโฟนและยานยนต์ประสิทธิภาพสูงได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากไม่มีการแข่งขันระหว่างประเทศแล้ว การค้าเสรีย่อมไม่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงควรคิดถึงในมุมนี้ด้วย”

 

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกประเทศจะต้องยกระดับการค้าและการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ ๆ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่สามารถตามโลกได้ทัน ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นแล้ว การเข้าร่วม CPTPP และ RCEP จะมีผลดีมากกว่าผลเสียอย่างแน่นอน

 

#CPTPP #TPP #จีน #ไต้หวัน #ญี่ปุ่น #RCEP #ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ #EPA #FTA #การค้าเสรี #ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH