ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2564 กรกฎาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.ค. 64 ยังดิ่ง 4 เดือนต่อเนื่อง วอนรัฐเร่งกระจายวัคซีน-ใช้การส่งออกเพิ่มกำลังผลิตในภาคอุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 6 ส.ค. 2564
  • Share :
  • 841 Reads   

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 (TCC Confidence Index) อยู่ที่ 20.7 ลดลง 1.8 จากเดือนก่อนหน้า โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด

จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20-29 กรกฎาคม 2564 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลง ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 20.7 ลดลง 2.2 จากเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 22.5 เป็นผลความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง , มาตรการขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดเพื่อควบคุมการระบาด ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ , การปรับลดคาดการณ์ GDP ของ สศค.  และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงเล็กน้อย รวมถึง การสั่งปิดกิจการทางธุรกิจในหลายประเภท ทำให้ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและทยอยปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น

 

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต หากสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่สามารถควบคุมได้
  • มาตรการเร่งด่วนขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพื่อควบคุมการระบาดไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการ
  • สศค. ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2564 เหลือ 1.3% ซึ่งลดลงจากครั้งที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3%
  • การสั่งปิดกิจการทางธุรกิจในหลายประเภท ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและทยอยปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง
  • SET Index เดือน ก.ค. 64 ปรับตัวลดลง 65.87 จุด จาก 1,587.79 ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 64 เป็น 1,521.92 ณ สิ้นเดือน ก.ค. 64
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับ 31.438 ฿/$ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 64 เป็น 32.611 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 64
  • ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.90 บาทต่อลิตร
  • ความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง

 

ปัจจัยด้านบวก

  • ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโครงการต่าง ๆ จะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงการออกมาตรการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการเพิ่มเติม ในพื้นที่คลุม 13 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม และการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการนำร่องอย่าง Phuket Sandbox และ Samui plus
  • การเร่งฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์ COVID-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น และการฉีดวัคซีน COVID เริ่มเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
  • การส่งออกของไทยเดือน มิ.ย. 64 ขยายตัวร้อยละ 43.82 มูลค่าอยู่ที่ 23,699.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 53.75 มีมูลค่าอยู่ที่ 22,754.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 945.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

 

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • เร่งจัดหาวัคซีนในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
  • เร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้การดำเนินชีวิตกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
  • ขับเคลื่อนภาคการส่งออกเพื่อเพิ่มระดับการใช้กำลังผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยลดการปลดแรงงานลงในบางอุตสาหกรรม
  • เร่งทำการรับผู้ป่วยที่ยืนยันผลเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการเสียชีวิต
  • ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วัคซีนโควิด #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย #Phuket Sandbox 

 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH