ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2565 มกราคม

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ม.ค. 65 หดตัวเล็กน้อย ผลกระทบจากสินค้าแพง-โอมิครอนระบาดหนัก

อัปเดตล่าสุด 10 ก.พ. 2565
  • Share :
  • 1,374 Reads   

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ระดับ 37.2 หดตัว 0.6 ค่าดัชนีฯ ลดลงครั้งแรก หลังปรับเพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน ผลจากการระบาดของโควิดสายพันธ์โอมิครอน ราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึง ภาวะคอขวดของอุปทานภาคการผลิตที่ยืดเยื้อยาวนานข้ามปี

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24-28 มกราคม 2565 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลง ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 37.2 ลดลง 0.6 จากเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 37.8 ลดลงครั้งแรก หลังปรับเพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน เป็นผลจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิดในประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอมิครอน, ราคาน้ำมัน สินค้าและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน, ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมถึง ภาวะคอขวดของอุปทานภาคการผลิตที่อาจยืดเยื้อจนถึงปีนี้

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน“ ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ความกังวลในการใช้มาตรการเข้มงวดของรัฐบาลหากมีการแพร่ระบาด
  • ราคาสินค้าในบางรายการโดยเฉพาะวัตถุดิบมีระดับราคาที่สูง ส่งผลต่อค่าครองชีพ และกำลังซื้อสินค้าของประชาชน และรายได้ของธุรกิจ
  • ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.90 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 1.50 บาทต่อลิตร
  • SET Index เดือน ม.ค. 65 ปรับตัวลดลง 8.81 จุด จาก 1,657.62 ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 64 เป็น 1,648.81 ณ สิ้นเดือน ม.ค. 65
  • ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 33.565 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 64 เป็น 33.240 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 65
  • ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ประสิทธิภาพของวัคซีน และภาวะคอขวดของอุปทานภาคการผลิตที่อาจยืดเยื้อไปจนถึงปี 2565
  • การปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติ (Policy normalization) โดยการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ จะส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

ปัจจัยด้านบวก

  • การผ่อนคลายมาตรการในการทำธุรกิจ
  • สศค. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.9 - 1.4% ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่ 1.0% ต่อปี สำหรับในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.5 - 4.5%
  • มาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ได้แก่ มาตรการช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง เฟส 4 มาตรการขยายระยะเวลาการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เป็นต้น
  • การฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์ COVID-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น
  • การส่งออกของไทยเดือน ธ.ค. 64 ขยายตัวร้อยละ 24.18 มูลค่าอยู่ที่ 24,930.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 33.37 มีมูลค่าอยู่ที่ 25,284.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 354.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และปศุสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • เพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะมาตรการสนับสนุน SMEs
  • ผ่อนคลายมาตรการดำเนินธุรกิจกลางคืน และเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
  • ขอให้ภาครัฐดำเนินการเปิด Test & go เพื่อรับนักท่องเที่ยว
  • ต้องการให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
  • ยกเลิกแนวคิดการ Lockdown หรือการจำกัดพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสามารถดำเนินการต่อเนื่อง
  • มาตรการช่วยเหลือโดยการลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าเดินทาง รวมทั้ง ลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิง และสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH