ก.อุตฯดัน สตาร์ทอัพคอนเน็คดีพร้อม รุ่น 2 โยงเครือข่าย-ขยายตลาด เฟ้นหาสุดยอด Deep Tech จับคู่เจรจาธุรกิจ คาดเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท

ก.อุตฯ ดัน "สตาร์ทอัพคอนเน็คดีพร้อม รุ่น 2" เฟ้นหาสุดยอด Deep Tech จับคู่ธุรกิจ คาดเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท

อัปเดตล่าสุด 1 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 3,587 Reads   

♦ กสอ. ดัน Startup Connect รุ่น 2 เฟ้นสุดยอด Deep Tech จับคู่เจรจาธุรกิจ

♦ คัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 4 สาขา ได้แก่ Industrial Tech, Medical Tech, Fin Tech และ Lifestyle Tech 

 

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 - กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ ให้มีความพร้อมผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect) รุ่นที่ 2 มุ่งเน้นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อขยายฐานตลาด และสร้างเครือข่าย ผลักดันการนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ผ่านกลยุทธ์ในการขยายเครือข่ายผู้ประกอบการ ขยายเครือข่ายเงินทุน ขยายเครือข่ายตลาด และขยายเครือข่ายนานาชาติ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 25 ทีม ในกลุ่มอุตสาหกรรมดีพเทค เจรจาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการตลาด (Business Matching) กับบริษัทภาคเอกชนที่สนใจร่วมลงทุน (CVC) เพิ่มศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจเชิงพาณิชย์ คาดว่าเกิดการร่วมลงทุนคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ (Startup) ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2,000 ราย ให้มีทักษะทางธุรกิจเพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ซึ่งพบว่าอุปสรรคของการเติบโตของสตาร์ทอัพ คือ ปัญหาด้านต้นทุนของธุรกิจ ทั้งต้นทุนในเชิงทักษะทางธุรกิจและต้นทุนในเชิงจำนวนเงิน จึงได้จัดกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup Connect ในประเภทอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ อุตสาหกรรม ดีพเทค (Deep Technology) สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดนวัตกรรม เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพจากบริษัทเอกชนชั้นนำที่สนใจลงทุน (CVC) ในการต่อยอดธุรกิจ โดยมีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมทักษะและการพัฒนาโมเดลธุรกิจ จำนวน 25 ทีม คาดว่าจะเกิดความร่วมมือทางธุรกิจผ่านการสนับสนุนเงินทุนกว่า 500 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพใช้กลไกการเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อส่งเสริมเงินทุนและการตลาด ในการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ การขยายเครือข่ายสตาร์ทอัพ เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ มาบ่มเพาะให้มีความพร้อมในการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับนักลงทุน การขยายเครือข่ายเงินทุน โดยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพ และสนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะ เพื่อสร้างความมั่นใจในการร่วมดำเนินธุรกิจ การขยายเครือข่ายตลาด โดยส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม หรือเครือข่ายนำโซลูชั่นของสตาร์ทอัพไปใช้งานจริง เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพและนวัตกรรมของไทยและการขยายเครือข่ายนานาชาติ เพื่อต่อยอดไปยังตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้น รองรับความต้องการจากต่างประเทศ

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กล่าวว่า ดีพร้อม ดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect) คัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 25 ทีม จากจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 100 ทีม ดำเนินการบ่มเพาะความรู้ด้านธุรกิจอย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และจัดกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการตลาด (Business Matching) สนับสนุนให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพและสามารถต่อยอดธุรกิจในตลาดใหม่ เพิ่มโอกาสในการขยายฐานตลาดไปยังต่างประเทศ

โดย ดีพร้อม มุ่งเน้นคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 4 สาขา ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาดโลก ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Tech) สาขาเทคโนโลยีการแพทย์ (Medical Tech) สาขาเทคโนโลยีการเงิน (Fin Tech) และสาขาไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Tech) ซึ่งมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นวัตกรรมแพลตฟอร์มวินิจฉัยปัญหาและควบคุมระบบปรับอากาศแบบอัจฉริยะที่สามารถประหยัดพลังงานได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 นวัตกรรมระบบเก็บข้อมูลหมายเลขทะเบียนรถยนต์และรถบรรทุก แบบอัตโนมัติผ่านระบบ AI และกล้อง CCTV นวัตกรรมช่องทางการรับชำระเงินที่หลากหลาย (Payment Gateway) พร้อมระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM Feature Subscription) นวัตกรรมเครื่องช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าวิธีการกายภาพบำบัดและนวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้จุลินทรีย์สายพันธุ์พิเศษเปลี่ยนน้ำเสีย ให้เป็นกระแสไฟฟ้า (BioCircuit) เป็นต้น

“นวัตกรรมที่ผ่านการคัดเลือกและบ่มเพาะส่วนใหญ่ อยู่ในรูปแบบแพลตฟอร์ม ที่เกิดขึ้นจากการกำหนดปัญหาเป็นมูลเหตุ ต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรม โดยผนวกองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย โดย ดีพร้อม พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงสู่แหล่งเงินทุนคุณภาพ เพิ่มอัตราการอยู่รอดของธุรกิจใหม่ และสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมในอนาคต” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ดี โครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect) ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจการส่งเสริม สนับสนุน ผู้ประกอบการให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถในการประกอบการ โดยกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการตลาด (Business Matching) จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ The Grounds ชั้น 31 อาคาร G Tower กรุงเทพฯ

 

อ่านต่อ: