รายงานความก้าวหน้าโครงการ EEC ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารฯ (กบอ.) ครั้งที่ 3/2564

รายงานความก้าวหน้าโครงการ EEC ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารฯ (กบอ.) ครั้งที่ 3/2564

อัปเดตล่าสุด 4 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 4,705 Reads   

♦ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน งานก่อสร้างเริ่มแล้ว พร้อมส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดกันยายน 2564 

♦ สนามบินอู่ตะเภา ฯ ก้าวหน้าครบทุกมิติ พร้อมรุกอุตสาหกรรมการบิน (ATZ) สร้างงานใหม่ รายได้เพิ่ม 

♦ ต้นแบบการพัฒนาเมืองเก่า ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ ดึงท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี สู่อีอีซี 

Advertisement

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน 2564 ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 3/2564 ในรูปแบบออนไลน์ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้ 

 

1. รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน งานก่อสร้างเริ่มแล้ว พร้อมส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดกันยายน 2564
 
ที่ประชุม กบอ. รับทราบความก้าวหน้าโครงการฯ โดย รฟท. เตรียมส่งมอบพื้นที่ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการประมาณ 5,521 ไร่ งานมีความคืบหน้า 86% ให้กับเอกชนคู่สัญญาแล้ว และพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด ภายในเดือนกันยายน 2564 โดยขณะนี้เอกชนได้เข้าพื้นที่ และเริ่มออกแบบเตรียมการก่อสร้าง เช่น งานปรับพื้นที่สำหรับเตรียมก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา งานก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวเพื่อลำเลียงวัสดุ งานก่อสร้างสำนักงานสนาม บ้านพักคนงาน โรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง งานด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและการจัดจราจร โดยการก่อสร้างทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 4 – 5 ปี และจะเปิดให้บริการช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ในปี 2568
 
ด้านการส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ พร้อมส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา โดยยืนยันว่า ผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ระหว่างการถ่ายโอนกิจการ โดยเฉพาะเรื่องบัตรโดยสาร ที่สามารถใช้บัตรรายเดือนได้ตามเดิม นอกจากนี้ จะได้รับการยกระดับคุณภาพบริการที่ดีขึ้น อาทิ การปรับเปลี่ยนตู้ขนสัมภาระ จำนวน 4 ตู้ ให้เป็นตู้รองรับผู้โดยสารแทนได้มากถึง 1,000 คนต่อชั่วโมง ลดการรอคอยขบวนรถไฟฟ้าในชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมปรับปรุงระบบควบคุมการเดินรถ ให้ขบวนรถมาตรงเวลามากขึ้น รวมถึงปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกรอบสถานี เพิ่มห้องน้ำ พื้นที่สีเขียว ระบบแสงสว่าง พัดลมระบายอากาศและปรับปรุงระบบจราจร เป็นต้น
 
 
2. สนามบินอู่ตะเภาฯ ก้าวหน้าครบทุกมิติ พร้อมรุกอุตสาหกรรมการบิน (ATZ) สร้างงานใหม่ รายได้เพิ่ม
 
2.1 ส่วนความรับผิดชอบภาครัฐ อาทิ การก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 โดยกองทัพเรือ ซึ่งได้ออกแบบทางวิ่งและทางขับที่ 2 งานทางขับเชื่อมระหว่างทางวิ่ง พร้อมลานจอดศูนย์ซ่อมอากาศยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย ทางวิ่งความยาว 3,505 เมตร ทางขับที่เกี่ยวข้อง 6 เส้นทาง อุโมงค์ลอดใต้ทางวิ่ง งานระบบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น การเตรียมส่งมอบพื้นที่ สกพอ. ได้จัดทำร่างระเบียบการปฏิบัติงานในพื้นที่เขตส่งเสริมฯ สำหรับช่วงการก่อสร้างเพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงดูแลรักษาความปลอดภัยพื้นที่ งานก่อสร้างระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น สกพอ. ได้ส่งมอบที่ดินที่เช่า และบริษัท บี กริม. ได้เข้าเคลียร์พื้นที่เรียบร้อยแล้ว งานก่อสร้างระบบประปาและระบบน้ำเสีย สกพอ. ได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ บริษัท อีสท์วอเตอร์ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างสำรวจสภาพพื้นที่
 
2.2 ส่วนความรับผิดชอบเอกชนคู่สัญญา (UTA) ได้เข้าสำรวจพื้นที่โครงการเรียบร้อย และได้ก่อสร้างรั้วมาตรฐานเขตการบิน (Airside) ความยาว 4.9 กิโลเมตร แล้วเสร็จประมาณ 95% เพื่อรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในช่วงการก่อสร้าง พร้อมจัดทำค่าระดับในพื้นที่โครงการ และกำหนดแนวเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างอาคารผู้โดยสารกับสถานีรถไฟความเร็วสูง งานจัดทำแผนแม่บทสนามบินฉบับสมบูรณ์ กำหนดส่งมอบตามสัญญาเดือนมิถุนายน 2564 นี้ งานออกแบบอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาระดับโลก กลุ่มบริษัท SOM (Skidmore, Owings and Merrill LLP : SOM) เพื่อออกแบบร่างขั้นต้นของอาคาร
 
2.3 กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Technical Zone : ATZ) สกพอ. เตรียมพัฒนาพื้นที่ประมาณ 539 ไร่ เพื่อรองรับอตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางพัฒนาธุรกิจด้านอากาศยาน ซึ่งกิจกรรมใน ATZ ที่สำคัญ ๆ เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ให้บริการซ่อมบำรุงเบา/หนัก ดัดแปลงอากาศยาน ศูนย์บริการอะไหล่อากาศยาน ศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น ซ่อมบำรุงอุปกรณ์อากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ และที่จอดสำหรับอากาศยานที่เสีย และใช้เวลาซ่อมระยะยาว หรือรอจำหน่าย เป็นต้น
 
ปัจจุบัน สกพอ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทและวางผังภายในพื้นที่กิจกรรม ATZ และมีแผนจัดทำการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (International Market Sounding) เพื่อศึกษาภาพรวมตลาดและเชิญชวนนักลงทุนในระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน 2564 ซึ่งการดำเนินการ ATZ คาดว่าจะ เพิ่มอัตราการจ้างงานด้านอุตสาหกรรมการบินกว่า 3,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้ภาครัฐจากเอกชนที่เข้ามาลงทุน เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ช่วยลดต้นทุนธุรกิจอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการบินในระดับภูมิภาคเอเชีย 
 
 
3. ต้นแบบการพัฒนาเมืองเก่า ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ ดึงท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี สู่อีอีซี 
 
ที่ประชุม กบอ. รับทราบ สกพอ. ร่วมกับเมืองพัทยา ริเริ่มโครงการก่อสร้างตลาดใหม่ลานโพธิ์นาเกลือตามแผนพัฒนาเมืองพัทยา สู่ NEO PATTAYA เพื่อเป็นโครงการนำร่องต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พร้อมรักษาความเป็นเมืองเก่าของนาเกลือสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชน คู่ไปกับการพัฒนาเป็นตลาดอาหารทะเลชั้นนำของอีอีซี โดยนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยให้ชุมชน ปัจจุบันได้ศึกษาและสำรวจแนวคิดจากโครงการที่ประสบความสำเร็จ ปรับการออกแบบผัง แนวคิด ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ชุมชน รักษาทัศนียภาพอันเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกสู่อีอีซี
 
ทั้งนี้ จุดเด่นสำคัญของการพัฒนาโครงการตลาดใหม่ลานโพธิ์นาเกลือ คือ เป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการร่วมกันระหว่างรัฐ-ท้องถิ่น และเอกชน สร้างโอกาสในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ ขยายผลไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ฟื้นฟูเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตประชาชนหลังสถานการณ์โควิด 19 และเป็นโครงการต้นแบบที่สามารถดึงนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้าสู่พื้นที่อีอีซี สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชนต่อเนื่อง 
 
 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่

Facebook / Twitter : MreportTH

Youtube official : MReport

Line : @mreportth

Website : www.mreport.co.th