กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), NSTDA, หุ่นยนต์อวกาศ, โครงการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ สวทช.

สวทช. เตรียมจัด Kibo Robot Programming Challenge ครั้งที่ 3 ชิงแชมป์ประเทศไทย รับสมัครวันนี้ - 16 พ.ค. 65

อัปเดตล่าสุด 1 พ.ค. 2565
  • Share :
  • 1,136 Reads   

สวทช. ร่วมกับ JAXA พร้อมหน่วยงานพันธมิตร จัดแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge ครั้งที่ 3 ชิงแชมป์ประเทศไทย ค้นหาสุดยอดทีมเยาวชนไทย ส่งโปรแกรมประมวลผลบนสถานีอวกาศนานาชาติ

วันที่ 25 เมษายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น และหน่วยงานพันธมิตร จัดแข่งขัน The 3rd Kibo Robot Programming Challenge ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยในทุกระดับชั้นการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีเข้าร่วมการแข่งขัน มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านสะเต็มศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมทรัพยากรบุคคลรองรับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยในอนาคต โดยทีมชนะเลิศจะได้เข้าแข่งขันรอบชิงแชมป์โลกทางออนไลน์ร่วมกับเยาวชนจากต่างประเทศในเดือนกันยายน 2565

นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันต้องมีสมาชิกจำนวน 3 คน และกำลังศึกษาไม่เกินระดับปริญญาตรี โดยสมาชิกในทีมอยู่ต่างสถาบันการศึกษาและระดับชั้นเรียนได้ ทั้งนี้สามารถสมัครทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.nstda.or.th/spaceeducation/kibo-rpc2022/ ภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ก่อนเวลา 24.00 น.

“ในการแข่งขันผู้เข้าร่วมต้องพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาจากเทมเพลตที่ทางแจ็กซากำหนด เพื่อควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) ในระบบ Simulation ซึ่งจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินมีอุกกาบาตพุ่งชนสถานีอวกาศนานาชาติจนได้รับความเสียหาย ผู้เข้าแข่งขันต้องเขียนโปรแกรมด้วยภาษา JAVA เพื่อสั่งการให้หุ่นยนต์แอสโตรบีเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ที่กำหนด โดยจะต้องเคลื่อนเข้าไปอ่าน QR Code ตามจุดที่กำหนด และยิงเลเซอร์เข้าเป้าหมายเพื่อซ่อมแซมสถานีอวกาศนานาชาติ โดยคะแนนการแข่งขันจะคำนวณจากความแม่นในการยิงเลเซอร์สู่เป้าหมายของหุ่นยนต์แอสโตรบี และเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจ ขณะนี้ทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันสามารถเข้าไปทดลองประมวลผลโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาในเซิร์ฟเวอร์ของการแข่งขันได้ที่เว็บไซต์ https://jaxa.krpc.jp สำหรับการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์โลกในเดือนกันยายน 2565 ต่อไป

ด้าน ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์  สวทช. กล่าวเสริมว่า สำหรับหุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันในครั้งนี้ คือหุ่นยนต์แอสโตรบี พัฒนาโดย NASA Ames Research Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูงและเทคโนโลยีที่ใช้กับยานอวกาศ

หุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee)

 

“หุ่นยนต์แอสโตรบีคือหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศที่ใช้งานอยู่จริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ คอยสนับสนุนและช่วยเหลือการทำงานของนักบินอวกาศ ซึ่งโครงการ The 3rd Kibo Robot Programming Challenge ในปีนี้จะมีเยาวชนจาก 12 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนปาล นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และไทย เข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงแชมป์โลก โดยมีนักบินอวกาศเป็นผู้ควบคุมการแข่งขันอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติและถ่ายทอดสดลงมาที่พื้นโลกด้วย”

ผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดข้อมูลและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ The 3rd Kibo Robot Programming Challenge ได้ที่ E-mail: [email protected], Website: www.nstda.or.th/spaceeducation/kibo-rpc2022/ และ Facebook page: NSTDA SPACE Education

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH