ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ปรับตัวยังไง

คิดนอกกรอบ ทางรอดผู้ผลิตชิ้นส่วน งานหดยุครถยนต์ไฟฟ้า

อัปเดตล่าสุด 15 พ.ย. 2564
  • Share :
  • 1,676 Reads   

การมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้าทำให้เทคโนโลยียานยนต์มีพัฒนาการเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้ากลับมีชิ้นส่วนน้อยกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป 

Advertisement

มิหนำซ้ำในบรรดาชิ้นส่วนที่มียังเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไอทีจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลจากแนวคิด CASE ทำให้มีผู้ผลิตหน้าใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนในอนาคตจะรุนแรงขึ้นนั่นเอง 
 

เทคโนโลยี CASE 
Connected cars, Autonomous / Automated driving, Shared, Electric

 

จากความต้องการลดน้ำหนักยานยนต์และโครงสร้างที่เรียบง่ายขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้มีจำนวนชิ้นส่วนน้อยลงไปอย่างมาก เห็นได้ชัดเจนในชิ้นส่วนสำคัญอย่างมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีชิ้นส่วนราว 10,000 ชิ้น ซึ่งลดลงจากเครื่องยนต์สันดาปที่มีชิ้นส่วนราว 20,000 ชิ้นถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนเป็นอย่างมาก 

และเมื่อแรงผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายประเทศพยายามเร่งเครื่องเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนมีเวลาเตรียมตัวน้อยลงไปอีก

แน่นอนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้หลายบริษัทย่อมต้องหาทางรอด ไม่ว่าจะด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น ลดต้นทุนให้มีกำไรมากขึ้น และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกแนวทางที่บริษัทญี่ปุ่นหลายรายให้ความสนใจ คือ การขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่น โดยใช้องค์ความรู้จากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มาต่อยอด

FINE SINTER เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ โดยทางบริษัทมีจุดแข็งในด้านเทคโนโลยีผงโลหะ (Powder metallurgy: PM) แต่ทางบริษัทได้คิดนอกกรอบ ด้วยการมองไปยังอุตสาหกรรมการอาหาร นำจิ้งหรีดซึ่งมีสารอาหารสูงมาผลิตเป็นขนมคบเคี้ยว 

ขนมที่ผลิตจากโปรตีนจิ้งหรีดโดยบริษัท FINE SINTER

ด้านผู้ผลิตเครื่องยนต์สันดาป บริษัท Nippon Piston Ring ได้นำองค์ความรู้ในการผลิตแหวนลูกสูบมาประยุกต์ใช้ในการผลิตเครื่องมือแพทย์

Sango ผู้ผลิตท่อไอเสีย แสดงความเห็นว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนใหญ่มักมีเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านโลหะการในมือ โดยทางบริษัทได้เลือกเข้าสู้อุตสาหกรรมก่อสร้าง ด้วยการผลิตท่อสเตนเลสที่มีรอยเชื่อมน้อย และเรียบเนียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยอุปกรณ์ในสายการผลิตเดิม จึงไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก อีกทั้งการที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนมากคุ้นเคยกับงานโลหะดี ทำให้มีข้อได้เปรียบกว่าผู้ผลิตรายอื่นในตลาดที่เทคโนโลยีไม่เทียบเท่าด้วย

ท่อสเตนเลสจากบริษัท Sango

“ในประเทศญี่ปุ่น แนวทางการขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่นกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากการเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายใหม่อย่าง Apple, Foxconn, และ Sony ซึ่งล้วนแล้วแต่มีข้อได้เปรียบด้าเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำลังการผลิตที่สูงกว่า และซัพพลายเชนที่มั่นคงกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายย่อยเป็นอย่างมาก ”

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยอมรับว่าการเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย โจทย์แรกคือในแต่ละตลาดย่อมมีผู้เล่นรายเดิมครองส่วนแบ่งกันอยู่แล้ว แต่หากตั้งใจจะจับตลาดยานยนต์ต่อก็เป็นไปได้ว่าการแข่งขันที่รุนแรงอาจทำให้เสียรายได้ ไปจนถึงพ่ายแพ้แก่คู่แข่งใหม่ 

และไม่เพียงแต่เป้าหมายด้านการประคับประคองธุรกิจเท่านั้น แต่การเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ยังก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ต่อบริษัทและบุคลากรอีกด้วย

Mr. Hiroyoshi Ninoyu ประธานบริษัท Tokai Rika แสดงความเห็นว่า หากไม่นำองค์ความรู้จากอุตสาหกรรมอื่นเข้ามาประยุกต์ใช้ การแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ย่อมยากลำบากขึ้น โดยยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านสวิทช์และเข็มขัดนิรภัย แต่เมื่อมาถึงยุคยานยนต์สมัยใหม่ การนำสมาร์ทโฟนหรือจอสัมผัสมาใช้ในรถทำให้จำนวนสวิทช์ในรถลดลง ทางบริษัทจึงได้ไอเดียในเรื่องของการนำสมาร์ทโฟนมาใช้เป็นดิจิทัลคีย์ แต่นำไปใช้กับสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รถยนต์ เช่น นำไปใช้กับตู้เก็บของนอกอาคาร หรือนำเทคโนโลยีอัลลอยที่ใช้ผลิตเข็มขัดนิรภัยไปใช้ในการผลิตเครื่องครัว

เครื่องครัวจากแม็กนีเซียมอัลลอย บริษัท Tokai Rika

การทดลองอะไรใหม่ ๆ เช่นนี้ แม้จะไม่นำมาซึ่งรายได้ให้แก่บริษัท แต่ทำให้ได้พบปะกับผู้คนในธุรกิจอื่นมากขึ้น นำมาซึ่งความคิดใหม่หลายอย่างที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ การทดลองเข้าไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ จึงเหมือนเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ของบริษัทให้กว้างขึ้น

นอกจากนี้ยังมีแนวทางอื่น ๆ อีกมาก เช่น

  • Aisin นำเทคโนโลยีนำทางยานยนต์มาพัฒนาบริการขนส่งอาหารและแท็กซี่
  • TS TECH นำเทคโนโลยีเซนเซอร์มาพัฒนาเก้าอี้พร้อมแอปพลิเคชันตรวจสุขภาพ
  • TACHI-S นำองค์ความรู้การพัฒนาเบาะนั่งยานยนต์มาต่อยอดสู่การตกแต่งภายในให้กับบริการ Ride Sharing
  • TPR ต่อยอดเทคโนโลยี Telematics Control Unit (TCU) สู่รถเช่าไร้คนขับ
  • Toyoda Gosei นำเทคโนโลยีวัสดุยางมาพัฒนารองเท้ากีฬา
  • F.C.C. ต่อยอดชิ้นส่วนคลัทช์เป็นอุปกรณ์ตั้งแคมป์
  • Sumitomo Riko นำเทคโนโลยีตัวเก็บประจุไปพัฒนาเครื่องมือแพทย์ เช่น อุปกรณ์ตรวจสุขภาพ
  • Stanley Electric นำเทคโนโลยีแสง UV ไปพัฒนาอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ
  • Riken นำองค์ความรู้ด้านการออกแบบแผ่นกันความร้อนไปต่อยอดสู่การลดเสียงรบกวนและความร้อนในชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ

 

#อุตสาหกรรมยานยนต์ #ยานยนต์ #ชิ้นส่วนยานยนต์ #รถยนต์ไฟฟ้า #รถอีวี #EV #Electric Vehicle #CASE #ทางรอด #ผู้ผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์ #ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ #ต่อยอดธุรกิจ ต่อยอด #Mreport #mreportth #เอ็มรีพอร์ต #ข่าวอุตสาหกรรม #วงในอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH