เปิดตัวไอโฟน 13 บทวิเคราะห์

iPhone 13 บทวิเคราะห์: เปิดตัวไอโฟน 13 ยุคโควิด-ชิปขาดตลาด

อัปเดตล่าสุด 22 ก.ย. 2564
  • Share :
  • 3,035 Reads   

เมื่อ Apple เผยโฉม ไอโฟน 13 ท่ามกลางยุคโควิดและวิกฤตชิปขาดตลาด สมาร์ทโฟนรุ่นนี้จะเจอความท้าทายอะไรบ้าง?

  • ฟรี ทดลองวัดชิ้นงานอะไหล่ วัดทุกจุดใน 3 วินาที ด้วยเครื่องดิจิตอลโปรไฟล์โปรเจคเตอร์ Keyence คลิกเลย
Advertisement

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Apple ได้ประกาศเปิดตัว iPhone 13 ผ่านงานแถลงข่าวออนไลน์ โดยนายทิม คุก ประธานบริหารของบริษัทแอปเปิล ได้แสดงความเห็นอย่างภาคภูมิใจว่าเป็น iPhone ที่ดีที่สุดที่เคยผลิตออกมา

iPhone 13 มีกำหนดวางจำหน่ายในวันที่ 24 กันยายน 2021 นี้ โดยมีทั้งหมด 4 รุ่น คือ iPhone 13 mini, iPhone 13, iPhone 13 Pro, และ iPhone 13 Pro Max

การเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่รองรับ 5G ได้ในทุกโมเดลเช่นนี้ ก็เป็นไปตามแนวโน้มของเทคโนโลยี 5G ที่แพร่หลายมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปี 2021 นี้จะมีประเทศที่รองรับเครือข่าย 5G มากถึง 60 ประเทศ ผ่านผู้ให้บริการมากกว่า 200 ราย ซึ่งเป็นผลจากความคืบหน้าของเทคโนโลยีไวร์เลส, อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ, และช่องสัญญาณที่รองรับอีกด้วย

เปิดตัวช่วงมรสุม iPhone 13 ต้องเจออะไรบ้าง?

แม้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2021 ยอดขายรวมของไอโฟนจะต่ำกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด โดยรายได้ส่วนใหญ่ของแอปเปิลมาจากธุรกิจบริการด้านสื่อบันเทิง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า iPhone ยังคงเป็นสินค้าหลักของบริษัท และจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไป

เปิดตัวไอโฟน 13 บทวิเคราะห์

iPhone 13

และในช่วงเวลาที่สงครามการค้ากำลังรุนแรงต่อเนื่องเช่นนี้ ซึ่ง Huawei ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจนมียอดขายลดลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นรายอื่นในประเทศจีนมีการแข่งขันรุนแรงเพื่อขึ้นมาครองส่วนแบ่งในตลาดนั้น จึงทำให้ iPhone13 ถูกจับตามองว่า การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในครั้งนี้จะมีนวัตกรรมอะไรที่สามารถทำให้แอปเปิลได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นบ้าง

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวใน iPhone ครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงมากกว่าแค่สงครามการค้า เนื่องจากการระบาดของโควิดที่ยังไม่สิ้นสุด และวิกฤตชิปขาดตลาดที่รุนแรงมากขึ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะไม่มีรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่กล่าวกันว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2021 ที่ผ่านมานี้ทางแอปเปิลจำเป็นต้องปรับลดกำลังผลิต iPad ลง

ส่วนในไตรมาสนี้ วิกฤตชิปขาดตลาดรุนแรงกว่าในไตรมาสที่แล้วเป็นอย่างมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจทำให้แอปเปิลจำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตลงอีก ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทไม่มากก็น้อย และอาจเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกจนกว่าปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายลง

อีกอุปสรรคที่อาจส่งผลต่อรายได้ของแอปเปิล คือ การปรับราคาชิปของ TSMC ที่เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา TSMC ยกให้แอปเปิลเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด แต่ท่ามกลางความต้องการชิปที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนชิปในหลายอุตสาหกรรม ส่งผลให้ TSMC ปรับขึ้นราคาชิปจากเดิม 10 - 20% จึงต้องติดตามกันต่อว่า TSMC จะสามารถผลิตชิปได้เพียงพอกับความต้องการของแอปเปิลหรือไม่ และการขึ้นราคาครั้งนี้จะส่งผลต่อ iPhone 13 อย่างไร

  • อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

โดยผู้ให้บริการเครือข่ายและจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่า ในช่วงวิกฤตชิปขาดตลาด ทำให้ไม่สามารถจัดหา iPad ได้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า จึงเป็นไปได้ว่า iPhone 13 อาจตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น SoftBank ได้เปิดเผยว่า ลูกค้าหลายรายเลือกที่จะรอซื้อไอโฟน ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายโทรศัพท์มือถือต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหากแอปเปิลไม่สามารถผลิตออกมาได้ทันกับความต้องการ

iPhone 13 และโอกาสของผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ในทุกครั้งที่มีการเปิดตัว iPhone จะเกิดกระแสตื่นตัวกับเทคโนโลยีใหม่ที่แอปเปิลพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะระบบกล้อง ซึ่งในฝั่งของภาคการผลิตได้ให้ความสนใจจากการใช้ชิ้นส่วนจำนวนมาก และต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต หากผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใดมีเทคโนโลยีเหล่านี้ในมือก็จะมีความได้เปรียบ ดังนั้น การเปิดตัวไอโฟนแต่ละครั้งจึงเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีของผู้ผลิต

 

เปิดตัวไอโฟน 13 บทวิเคราะห์

ยิ่งสมาร์ทโฟนมีประสิทธิภาพสูงเท่าไหร่ ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น (ภาพจากเว็บไซต์ TSMC)

ตัวอย่างเช่นระบบ Sensor-shift optical image stabilization (OIS) ที่ถูกใช้มาตั้งแต่ iPhone 12 มีชิ้นส่วนสำคัญคือ เซนเซอร์, แผงวงจรแบบ Flexible Printed Circuit, และเทคโนโลยีแผงวงจรขั้นสูงอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ใน iPhone 13 ยังไม่มีรายละเอียดว่าชิ้นส่วนของระบบ OIS จะเหมือนเดิมหรือไม่ 

  • ติดตามเทรนด์ตลาดแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ คลิก

อีกชิ้นส่วนที่คาดว่าจะได้รับผลพลอยได้ คือ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เนื่องจากเป็นอีกชิ้นส่วนสำคัญที่สมาร์ทโฟนทุกเครื่องต้องใช้งาน ซึ่ง iPhone 13 มีความจุแบตเตอรี่มากขึ้นซึ่งมาจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ก้าวหน้ากว่าเดิม ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนเกิดการแข่งขันในการพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีความจุสูง ใช้งานได้นาน และเป็นผลดีต่อผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนต่อไป 

นอกจากเทคโนโลยีระบบกล้องแล้ว แบตเตอรี่ยังเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทำให้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ชาร์จแบตได้เร็ว ใช้งานได้นาน ดังนั้น ผู้ผลิตแบตเตอรี่จึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนก้าวถัดไปของผลิตภัณฑ์ที่รอเปิดตัวสู่ตลาด 

 

สรุปบทความ

สิ่งที่ธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต้องเฝ้าระวังนั้นไม่ใช่โควิด แต่เป็นวิกฤตชิปขาดตลาด เนื่องจากในหลายประเทศแสดงให้เห็นแล้วว่าผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้นหลังการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และการเปิดตัวไอโฟนในแต่ละครั้งได้แสดงให้เห็นถึงกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม 

หาก iPhone 13 ไม่สามารถผลิตออกมาได้ทันกับความต้องการจากเหตุชิปไม่เพียงพอ ก็เป็นที่น่าเสียดาย ซึ่งไม่เพียงแต่แอปเปิลเท่านั้น แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย จึงต้องจับตาดูต่อว่า แอปเปิลจะสามารถผลิต iPhone 13 ออกมาได้มากแค่ไหนในวิกฤตชิปขาดตลาดเช่นนี้


#iPhone13 #บทวิเคราะห์ iPhone 13 #เปิดตัว ไอโฟน 13 #ไอโฟน 13 #5G #แอปเปิล #Apple #วิกฤตชิปขาดตลาด #ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ #Electronics #Chip Shortage #Semiconductor Shortage #COVID-19 #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #เอ็ม รีพอร์ต #ข่าวอิเล็กทรอนิกส์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH