ชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์ 5G ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก

5G ตัวแปรสำคัญสู่ “ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก” ความต้องการพุ่ง

อัปเดตล่าสุด 19 ม.ค. 2565
  • Share :
  • 1,399 Reads   

ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เล็งพัฒนาชิ้นส่วนขนาดเล็กรับกระแส 5G ซึ่งคิดเป็น 70% ของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

Advertisement

ในยุคของสมาร์ทโฟนที่มีการรับส่งข้อมูลมหาศาล และผู้บริโภคเข้าถึงง่าย ทำให้การรับส่งข้อมูลเกิดความล่าช้า เปรียบได้กับการจราจรที่คับคั่งบนท้องถนนที่มีจำนวนเท่าเดิมแต่ปริมาณรถยนต์ที่วิ่งนั้นมีมากขึ้น และเครือข่าย 5G คือสิ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้

โดย 5G เปรียบได้กับการขยายเลนวิ่งบนถนน หรือตัดถนนใหม่เพิ่ม เพื่อให้การรับส่งข้อมูลทำได้ง่าย และรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากการตัดถนนจำเป็นต้องมีเครื่องมือต่าง ๆ แล้ว การนำ 5G มาใช้งานก็ไม่ต่างกัน ซึ่งเครื่องมือที่จะนำมาช่วยให้เทคโนโลยีนี้เป็นจริงได้ คือ สถานีฐาน (Base station) 

ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลของ 5G ทำให้เทคโนโลยีนี้ไม่จำกัดแค่เพียงโทรคมนาคม แต่ยังครอบคลุมไปถึงภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์อัตโนมัติ, แพทย์ทางไกล, บริการรับส่งสินค้าผ่านโดรน, และอื่น ๆ อีกมาก ทำให้รัฐบาลหลายประเทศให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น ประกาศว่า 5G จะต้องให้บริการในพื้นที่ 90% ของญี่ปุ่นภายในปี 2023 ด้านกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดในญี่ปุ่น จะรองรับการใช้งาน 5G ได้ 100% ภายในปี 2025

ปัจจุบัน ทั้งในญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศมีแนวทางใกล้เคียงกัน คือ ใช้คลื่นความถี่ 6 กิกะเฮิร์ตซ์ที่เรียกว่า Sub-6 ในการรับส่งสัญญาณ 5G เพื่อการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก 5G ไม่ได้ใช้แค่การสื่อสารระหว่างสมาร์ทโฟน แต่ยังรองรับการเชื่อมต่ออีกหลายรูปแบบ ทำให้แต่ละประเทศจำเป็นต้องหาคลื่นความถี่ย่านอื่นเพื่อรองรับในส่วนนี้

ซึ่งนั่นหมายถึง ความต้องการอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากเพื่อรองรับการขยับขยายของ 5G เช่น Small Cell ซึ่งขยายการครอบคลุมของสัญญาณ, Radio Unit สำหรับแปลงสัญญาณ และอื่น ๆ 

สำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai คาดการณ์ว่า ในปี 2023 มูลค่าตลาดอุปกรณ์ด้าน 5G ทั่วโลกจะอยู่ที่  4.18 ล้านล้านเยน หรือราว 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง 70% ของมูลค่านี้จะเป็นในส่วนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายรายต่างเร่งเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาด

โดยชิ้นส่วนที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คือ ตัวเก็บประจุเซรามิกแบบหลายชั้น (MultiLayer Ceramic Capacitors: MLCC) 

นอกจากนี้ ยังมี Crystal Oscillator ซึ่งเป็นอุปกรณ์กำเนิดสัญญาณความถี่ขนาดเล็กขนาด 7 x 5 มม. มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่ท้าทาย จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นส่วนประกอบของสถานีฐาน ซึ่งบริษัท Nihon Dempa Kogyo ได้พัฒนาขึ้นและอยู่ระหว่างขั้นตอนทดสอบ คาดว่าจะนำมาใช้งานจริงได้ภายในปี 2022 - 2023 โดยนาย Hiromi Kato ประธานบริษัท เปิดเผยว่า ในปี 2020 ทั่วโลกมีสถานีฐานขนาดเล็ก 1.1 ล้านสถานี และคาดว่าจะเติบโตราวปีละ 40% และขึ้นไปอยู่ที่ 7 ล้านสถานีภายในปี 2025

Multi-antenna อีกหนึ่งชิ้นส่วนที่บริษัท TDK คาดว่าจะมีความต้องการจำนวนมาก เพราะจะถูกนำไปใช้ร่วมกับเทคโนโลยี beamforming ที่ช่วยให้สามารถส่งสัญญาณ 5G ได้เป็นระยะทางไกลยิ่งขึ้น ทำให้การรับส่งข้อมูลมีความเสถียร 

 

ปัจจุบัน Multi-antenna ยังต้องใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ อยู่ ส่งผลให้เป็นระบบรับส่งสัญญาณที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งทาง TDK ได้เลือกใช้เทคโนโลยีการซ้อนแผ่นเซรามิกเพื่อรวมเสาอากาศและฟิลเตอร์บล็อคสัญญาณเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ได้เป็นเสาอากาศขนาดเล็กที่สามารถติดตั้งลงบนแผงวงจรพิมพ์ได้

และไม่เพียงแต่อุปกรณ์รับส่งสัญญาณเท่านั้น แต่เมื่อเครือข่าย 5G แพร่หลายยิ่งขึ้น บริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้โดรนรับส่งสินค้า, ยานยนต์อัตโนมัติ, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), และอื่น ๆ ก็จะแพร่หลายตามไปด้วย ซึ่งหมายถึงความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำหรับ Data Center เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลในยุคอนาคต

 

#5G #เทคโนโลยี 5G #เครือข่าย 5G #อุปกรณ์ 5G #Data Center #อิเล็กทรอนิกส์ #ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ #ชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ #สถานีฐาน #Crystal Oscillator #MLCC #Multi-antenna #TDK #อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ #ผู้ผลิตชิ้นส่วน #อุตสาหกรรมการผลิต

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH