10 ประเทศ เตรียมลงนาม "19 มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์อาเซียน"

10 ประเทศ เตรียมลงนาม "19 มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์อาเซียน"

อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 1,316 Reads   

ACCSQ หรือ ASEAN Consultative Committee on Standards and Quality คือ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพของ ASEAN ทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ในการปรับมาตรฐานและกฎระเบียบให้สอดคล้องกันในอาเซียน รวมทั้งพิจารณาแนวทางในการทำความตกลงยอมรับร่วมสำหรับระบบการตรวจสอบรับรองเป็นการทำความตกลงเพื่อยอมรับผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของประเทศสมาชิกอื่นว่าเป็นไปตามมาตรฐานโดยไม่ต้องทำการตรวจสอบซ้ำอีกโดยมี นายไชยวัฒน์ ตั้งเกริกโอฬาร ผู้อำนวยการกองบริหารมาตรฐานระหว่างประเทศ (กป.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งผู้แทนประเทศไทยในคณะ ACCSQ

ทั้งนี้ สถาบันยานยนต์  ได้มีบทบาทสำคัญโดย นายพิสิฐ  รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้ดำรงตำแหน่งผู้แทนหลักของประเทศไทยในคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ APWG หรือ Automotive Product Working Group ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการปรับประสานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

และคาดว่าจะมีการร่วมลงนามในการประชุม “52nd  ASEAN Economic Minister Meeting” ในเดือนสิงหาคม 2563 ประกอบไปด้วยสมาชิกจาก 10 ประเทศ คือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งในเฟสแรก ว่าด้วยการประกาศจัดทำความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement) ของ ASEAN จำนวน 19 มาตรฐาน ดังนี้

1. Braking System - R13
2. Braking System - R13H
3. Seat Belt Anchorage - R14
4. Seat Belt - R16
5. Seats - R17
6. Head Restraints - R25
7. Audible Warning Device - R28
8. Noise Emission (L category) - R41
9. Noise Emission - R51
10. Speedometer - R39
11. Pneumatic Tyre - R30
12. Pneumatic Tyre - R54
13. Tyre (L category) - R75
14. Exhaust Emission (L category) - R40
15. Exhaust Emission - R49
16. Exhaust Emission - R83
17. Safety Glass - R43
18. Rear View Mirror - R46
19. Steering Equipment - R79

 

ประโยชน์และผลกระทบจากการทำ ASEAN MRA 

1. ในการทำ ASEAN MRA ก็เป็นเสมือนการเพิ่มช่องทางในการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันสำหรับประเทศในอาเซียน เช่น กรณีของเข็มขัดนิรภัยถ้ามีการทำ ASEAN MRA ระหว่างกันโดยใช้ UNECE 16 เป็นมาตรฐานกลางแล้ว ถ้าเข็มขัดนิรภัยถูกผลิตในประเทศสมาชิกและผ่านการทดสอบโดย Technical Service ที่ขึ้นทะเบียนกับอาเซียนก็สามารถส่งออกไปได้ทุกประเทศในอาเซียนที่มีมาตรฐานบังคับโดยไม่ต้องทดสอบซ้ำ

2. ผู้ผลิตในประเทศต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับมาตรฐาน UNECE ที่จะมีการทำ MRA

3. ส่งเสริมให้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศ ASEAN มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

4. ผู้ประกอบยานยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายเท่านั้นที่มีห้องปฏิบัติการทดสอบที่รองรับมาตรฐาน UNECE ภายในบริษัท ส่วนห้องปฏิบัติกการทดสอบที่เป็นหน่วยงานกลางในประเทศยังไม่รองรับมาตรฐาน UNECE ที่จะมีการทำ ASEAN MRA โดยปัจจุบันสามารถรองรับการทดสอบเพียงบางรายการเท่านั้น

การทำ ASEAN MRA สำหรับมาตรฐานยานยนต์นี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีการขจัดอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ ผู้ประกอบการมีความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่มีมาตรฐานในระดับสากล โดยจะเป็นส่วนสำคัญให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยในการใช้ยานยนต์ และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นด้วย