สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2565

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย ไตรมาส 1/2565

อัปเดตล่าสุด 2 มิ.ย. 2565
  • Share :
  • 20,914 Reads   

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานสถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีมูลค่าทั้งสิ้น 148,146.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 73,601.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 14.9 และมูลค่าการนําเข้า 74,545.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดุลการค้าไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ขาดดุล 943.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยมูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 5 ทั้งการส่งออกและนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยบวกจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักอย่างชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์อันเป็นผลจากหลายประเทศปรับตัวใช้มาตรการอยู่ร่วมกับโควิด ส่งผลให้กิจกรรมการดำเนินธุรกิจประเภทต่าง ๆ ขับเคลื่อนต่อไปได้ เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ขยายตัวในทิศทางเดียวกันทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สะท้อนได้ว่าการผลิตเพื่อรองรับตลาดส่งออกยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ในระยะข้างหน้า

Advertisement

โครงสร้างการส่งออกสินค้า

การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีมูลค่า 73,601.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหมวดสินค้าหลักมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • สินค้าเกษตรกรรม มูลค่าการส่งออก 5,881.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.9 
  • สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร มูลค่าการส่งออก 5,720.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 28.0 
  • สินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออก 59,420.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.9
  • สินค้าแร่และเชื้อเพลิง มูลค่าการส่งออก 2,579.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.7

สินคัาที่มีการส่งออกขยายตัว ได้แก่ 

  • อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่าการส่งออก 5,504.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 204.7
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่าการส่งออก 5,431.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.6
  • เม็ดพลาสติก มูลค่าการส่งออก 3,037.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 19.5
  • เคมีภัณฑ์ มูลค่าการส่งออก 2,538.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.7 
  • แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่าการส่งออก 2,305.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 17.7

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2565

 

ตลาดส่งออก ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 การส่งออกสินค้าไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด สหรัฐอเมริกาขยายตัวมากที่สุด ถัดมา คือ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ซึ่งสัดส่วนการส่งออกทั้ง 5 ตลาด ได้แก่อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) รวมร้อยละ 68.7 และการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ร้อยละ 31.3 ของการส่งออกทั้งหมด มีรายละเอียด ดังนี้

  • สัดส่วนการส่งออกของไทย ไปยังอาเชียน (9 ประเทศ)  สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) คิดเป็น ร้อยละ 24.3, 16.2, 11.3, 8.8 และ 8.0 ตามลําดับ
  • อัตราการขยายตัวของการส่งออก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ประเทศคู่ค้าหลักของไทยขยายตัวเกือบทุกตลาด โดยสหรัฐอเมริกาขยายตัวมากที่สุดร้อยละ 24.1 รองลงมา คือ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 17.0 สหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 5.7 จีน ขยายตัวร้อยละ 4.2 และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.2

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2565

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ 

โครงสร้างการนำเข้าสินค้า

การนำเข้าสินค้าของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีมูลค่า 74,545.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหมวดสินค้าหลักมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • สินค้าเชื้อเพลิง มีมูลค่าการนำเข้า 74,545.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 86.3
  • สินค้าทุน มีมูลค่าการนำเข้า 17,319.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12.0
  • สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้า 30,347.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.3 
  • สินค้าอุปโภคบริโภค มีมูลค่าการนำเข้า 8,562.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.9
  • ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีมูลค่าการนำเข้า 3,005.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 20.2
  • สินค้าหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าการนำเข้า 1,042.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1,965.4

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2565

ตลาดนำเข้าสินค้า สัดส่วนการนำเข้าแยกตามตลาดนำเข้าสำคัญ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ตลาดนําเข้าสําคัญของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด โดยจีนขยายตัวมากที่สุด ลําดับถัดมา คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) และญี่ปุ่น
ทั้ง 5 ตลาดมีสัดส่วนการนำเข้ารวมร้อยละ 65.2 และการนำเข้าจากตลาดอื่น ๆ ร้อยละ 34.8 ของการนําเข้าทั้งหมด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • สัดส่วนการนำเข้าของไทย จากจีน อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป  (27 ประเทศ) และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 23.6, 17.7, 12.1, 6.2 และ 5.5 ตามลําดับ
  • อัตราการขยายตัวของการนำเข้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดหลักขยายตัวทุกตลาด โดยจีนขยายตัวมากที่สุดร้อยละ 19.2 อาเซียนขยายตัวร้อยละ 17.4 สหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 16.7 สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ขยายตัวร้อยละ 10.8 และญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 0.6

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2565

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์

อ่านต่อ:

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH