ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือนตุลาคม

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือน ต.ค. พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ภาพรวม 10 เดือน ขยายตัว 4%

อัปเดตล่าสุด 9 พ.ย. 2564
  • Share :
  • 811 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนตุลาคม 2564 เพิ่มขึ้น 6.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค.) เพิ่มขึ้น 4%

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนตุลาคม 2564 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 104.8 เทียบกับเดือนตุลาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 6.9 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ประกอบด้วย

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.6 เนื่องจากราคาวัตถุดิบ และราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นหลัก สำหรับกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร โลหะขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 24.9 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่โลหะ ตามภาวะตลาดโลก 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 2.6 เป็นผลจากสินค้าเกษตรกรรมเป็นสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ไม้ผล มะพร้าว สุกร/ไก่มีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าปีก่อน ขณะที่ความต้องการของตลาดชะลอตัว อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 2.3 16.5 และ 7.1 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด - น้ำมันปาล์มดิบ - น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มันสำปะหลังสด - มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการของตลาดที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เดือนตุลาคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 6.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.6 จากสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ จากความต้องการใช้ที่มีอย่างต่อเนื่องและอ้างอิงกับราคาตลาดต่างประเทศ ปุ๋ยเคมีผสม จากราคาวัตถุดิบนำเข้า (แม่ปุ๋ย) ปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์ม จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับมีมาตรการของภาครัฐกระตุ้นการใช้ภายในประเทศและส่งออก น้ำตาลทราย กากน้ำตาล เคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง จากวัตถุดิบสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี และเหล็กลวด จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ประกอบกับมีการปรับโครงสร้างต้นทุนสินค้าใหม่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ถุงพลาสติก แผ่นฟิล์มพลาสติก ท่อ ข้อต่อ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ จากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น   
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง​ สูงขึ้นร้อยละ 24.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มแร่ (แร่เหล็ก ดีบุก สังกะสี วุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 2.6 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว กลุ่มไม้ผล ได้แก่ สับปะรด กล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ มะพร้าวผล เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูกและมีปริมาณน้ำเพียงพอ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ความต้องการของตลาดชะลอตัว กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและส่งออกชะลอตัวจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากมีความต้องการใช้ด้านพลังงานในการสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล รวมทั้งมีการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ยางพารา (น้ำยางสด เศษยาง) เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และถุงมือยางทางการแพทย์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการของตลาดเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น พืชผัก (ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ต้นหอม ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักบุ้ง ผักชี ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง จากภาวะฝนตกชุกในหลายพื้นที่ส่งผลให้พืชผักเสียหาย กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาสีกุน ปลาทรายแดง ปลาลัง ปลาหมึก กุ้งแวนนาไม และหอยแครง เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากช่วงฤดูมรสุมทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำประมง

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เดือนตุลาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ พืชผัก (กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักบุ้ง ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก ผักกวางตุ้ง มะนาว แตงกวา มะเขือ ถั่วฝักยาว พริกชี้ฟ้าสด ฟักทอง บวบ มะระจีน แตงร้าน ผักกาดหัว) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากภาวะฝนตกชุกและน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกส่งผลให้พืชผักเสียหาย ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้ความต้องการบริโภคปรับเพิ่มขึ้น หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาล ผลผลิตออกสู่ตลาดยังไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังออกสู่ตลาดไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการของตลาดส่งออกปรับตัวดีขึ้น กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี มะพร้าวผล เนื่องจากความต้องการบริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยางพารา เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากภาวะฝนตกชุก สำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว สับปะรด กล้วยน้ำว้า เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคชะลอตัว จากภาวะฝนตกชุกและเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลดลง รวมทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าจากธุรกิจบริการร้านอาหารและโรงแรมยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาลัง ปลาอินทรี ปลาสำลี ปลาหมึกกล้วย หอยนางรม ปลาตะเพียน และปลานิล เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการบริโภคลดลง

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของราคาก๊าซธรรมชาติ ตามภาวะตลาดโลก
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม​ สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก จากความต้องการใช้พลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น ขณะที่อุปทานน้ำมันตึงตัว เนื่องจากประเทศกลุ่มโอเปกพลัสยังคงกำลังการผลิตไว้ในระดับเดิม กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น กรดกำมะถัน ปุ๋ยเคมีผสม ยางสังเคราะห์ จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เนื่องจากราคาปรับตามเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น ท่อและข้อต่อ จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์ม จากความต้องการใช้ในตลาดโลกยังมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาวัตถุดิบสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดน้อย ปลาทูน่ากระป๋อง และน้ำสับปะรด จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้นและเงินบาทอ่อนค่า ข้าวนึ่ง ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเริ่มมีมากขึ้นและเงินบาทอ่อนค่า กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น และเหล็กลวด จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้แก่ บุหรี่ จากการปรับโครงสร้างราคาสินค้าใหม่ และกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก 

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 4.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.2 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ น้ำยางสด เศษยาง ผลปาล์มสด อ้อย หัวมันสำปะหลังสด พริกแห้ง กระเทียม ผักกวางตุ้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย องุ่น กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ชมพู่ สุกรมีชีวิต โคมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย กุ้งแวนนาไม ปลาสีกุน ปลาทรายแดง ปลาทูสด และหอยแครง

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 4.3 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โพรพิลีน เบนซีน กรดเกลือ และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง เนื้อสุกร ไก่สด เนื้อโค และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น ถุงมือยาง แผ่นฟิล์มพลาสติก ถุงพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี และเหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ และเครื่องประดับเทียม กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์ต่ำกว่า 1,800 ซีซี รถบรรทุกขนาดเล็ก และตัวถังรถยนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก ตะปู/สกรู/น๊อต ถังแก๊ส ถังเก็บน้ำ และตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ กระดาษคร๊าฟท์ และกระดาษพิมพ์เขียน
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 3.3 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) และกลุ่มแร่ (แร่เหล็ก ดีบุก สังกะสี วุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก     

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เดือนพฤศจิกายน

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤศจิกายน 2564 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยยังได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบและเหล็กที่ปรับเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์โลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลจากการควบคุมปริมาณการผลิตเหล็กของประเทศจีน ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน และโลหะขั้นมูลฐาน นอกจากนี้ การส่งออกในหลายสินค้ายังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง รถยนต์และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก จากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า และเงินบาทที่อ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการ อาทิ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว สุกรและไก่มีชีวิต มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะข้าวเปลือก ที่ผลผลิตฤดูกาลใหม่กำลังออกสู่ตลาด ขณะที่สต็อกเก่ายังมีปริมาณมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการในประเทศยังชะลอตัว ประกอบกับฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ระดับสูง รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายหลังการเปิดประเทศ และอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH