ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2567 เดือนมกราคม ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย ม.ค. 67

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2567 เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 0.3%

อัปเดตล่าสุด 15 ก.พ. 2567
  • Share :
  • 5,474 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ระดับ 110.3 เพิ่มขึ้น 0.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญในหมวดหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ในขณะที่สินค้าหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนมกราคม 2567 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 110.3 เทียบกับเดือนมกราคม 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (YoY) ประกอบด้วย

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 21.7 จากสินค้ากลุ่มปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มสินแร่โลหะ
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.9 โดยมีกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 4.6 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก อ้อย หัวมันสำปะหลังสด สับปะรดโรงงาน
    ยางพารา และผลปาล์มสด

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า พบว่า ดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป และหมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 1.3 และ 0.1 ตามลำดับ ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 4.5 โดยในห่วงโซ่อุปทานมีสินค้าสำเร็จรูปที่ราคาเคลื่อนไหวตามราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต้นน้ำ/กลางน้ำ ประกอบด้วย สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า → ข้าวสารเจ้า/ข้าวนึ่ง/ปลายข้าว ข้าวเปลือกเหนียว → ข้าวสารเหนียว และ อ้อย → น้ำตาลทราย สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ สุกรมีชีวิต → เนื้อสุกร และ เม็ดพลาสติก → บรรจุภัณฑ์พลาสติก (ถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์อื่น ๆ)

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2567 เดือนมกราคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลก และเครื่องประดับเทียม เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ข้าวสารเจ้า น้ำตาลทราย ข้าวนึ่ง และข้าวสารเหนียว เนื่องจากความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและส่งออก น้ำมันปาล์มดิบ มันเส้น น้ำสับปะรด
    และสับปะรดกระป๋อง เนื่องจากสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบปรับราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน และถุงยางอนามัย เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถบรรทุก และรถยนต์นั่งต่ำกว่า 1,800 ซีซี เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นส่วน (Minor Change) กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ คอนกรีตผสมเสร็จ โถส้วม เสาเข็มคอนกรีต
    แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป และอิฐก่อสร้าง เนื่องจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานปรับสูงขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาสินค้าบางผลิตภัณฑ์จึงมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ เบียร์ เครื่องดื่มกาแฟสำเร็จรูป และน้ำดื่ม เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น อาทิ ราคาวัตถุดิบ ราคาบรรจุภัณฑ์ และค่าไฟฟ้า กลุ่มสิ่งพิมพ์และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ ได้แก่ หนังสือแบบเรียนและหนังสือพิมพ์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ประกอบกับปริมาณการผลิตน้อยลงจากปีก่อน ส่งผลให้ต้นทุนการพิมพ์ต่อเล่มเพิ่มขึ้น และกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ เสื้อยืด เครื่องแบบนักเรียนชาย/หญิง และถุงเท้า เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 21.7 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี เหล็ก ดีบุก) เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ลดลง
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 4.6 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และอ้อย เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ค้าข้าวและอ้อยรายสำคัญประกาศมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวและน้ำตาล ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น และสับปะรดโรงงาน เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง
    จากสภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณน้ำที่ใช้ในภาคการเกษตรมีน้อย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศคู่ค้าขยายตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทำให้ความต้องการใช้และเก็บสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น และผลปาล์มสด เนื่องจากราคาน้ำมันโลกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้พืชน้ำมันที่ใช้เป็นส่วนประกอบเชื้อเพลิงชีวภาพปรับราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส าหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง ประกอบด้วย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื่องจากความต้องการใช้ในภาคปศุสัตว์ลดลง กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต โคมีชีวิต และไก่มีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งจากการนำเข้าและการผลิตของเกษตรกรบางส่วนในประเทศ ขณะที่ความต้องการบริโภคยังไม่ฟื้นตัวดี ส่งผลให้ราคาหน้าฟาร์มลดลง และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ผลผลิตกุ้งโลกล้นตลาด และระดับราคากุ้งโลกที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับความต้องการบริโภคจากภาคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวช้า

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2567 เดือนมกราคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร เนื่องจากมีการปรับราคาตามที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงหมูเถื่อนที่เข้ามาจำหน่ายในตลาดล่าง รวมทั้งช่วยเหลือเจ้าของฟาร์มสุกรรายเล็ก น้ำมันปาล์ม
    ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง ปลายข้าว และมันเส้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย และน้ำตาลทราย เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ประตูพีวีซี ถุงพลาสติก และกระสอบพลาสติก
    เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น รวมถึงผู้ผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกบางรายไม่ได้มีการปรับราคามานานแล้ว กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวในทิศทางสูงขึ้นตามตลาดโลกเป็นผลมาจากหลายปัจจัย อาทิ การอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงการซื้อทองคำเพิ่มขึ้นของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อเป็นทุนสำรอง นักลงทุนซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และแรงซื้อเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล และเครื่องประดับเทียม เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าดิบ และผ้าใยสังเคราะห์ เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานและราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ เป็นแรงหนุนให้ราคาสินค้าส่งออกดีขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ โถส้วม เนื่องจากผู้ผลิตมีการพัฒนาคุณลักษณะพิเศษของสินค้าเดิมและปรับเปลี่ยนรุ่นซึ่งมีราคาสูงกว่าเดิม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากผู้ผลิตบางรายให้ส่วนลดน้อยลง และท่อซีเมนต์ใยหิน เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานปรับสูงขึ้นกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ ที่นอน เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการผลิตกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ กางเกงบุรุษ เสื้อบุรุษ และเสื้อกล้าม เนื่องจากการปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบสูงขึ้นทั้งเส้นด้ายและผ้ายืด และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กเส้น ท่อเหล็กกล้า ลวดเหล็ก เหล็กรูปตัวซี และลวดแรงดึงสูง เนื่องจากราคาวัตถุดิบในการผลิตปรับสูงขึ้น

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 1.6 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลก 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการของภาคการส่งออกเพิ่มขึ้นจากการที่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นจากทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้พืชน้ำมันที่ใช้เป็นส่วนประกอบเชื้อเพลิงชีวภาพปรับราคาเพิ่มขึ้นด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และอ้อย
    เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ขณะที่ปริมาณผลผลิตมีน้อย จากภาวะแล้งที่ทำให้ปริมาณผลผลิตในภาพรวมต่ำกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงมีมาตรการจำกัดหรือระงับการส่งออกของประเทศผู้ส่งออกข้าวและน้ำตาลรายสำคัญ หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากผลผลิต
    ฤดูกาลใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีคำสั่งซื้อจากผู้ประกอบการร้านอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการบริโภคในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวสำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง ประกอบด้วย พืชผัก (ต้นหอม ผักชี ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง) เนื่องจากผลผลิตเข้าสู่ตลาดมาก รวมทั้งมีฝนนอกฤดูทำให้ผลผลิตบางส่วนเกิดความเสียหาย ราคารับซื้อจึงลดลง

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2567 เดือนกุมภาพันธ์

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดอุตสาหกรรมขยายตัว นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ภาคการท่องเที่ยวมีทิศทางขยายตัว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะออกมาอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและการค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับฐานราคาปี 2566 ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเล็กน้อย จึงคาดว่าจะทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและอัตราดอกเบี้ยความผันผวนของค่าเงินบาท และหนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตในภาคการเกษตร เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) #ดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) คือ #ดัชนีราคาผู้ผลิต คือ #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH