Geely ตามรอย Tesla เตรียมใช้ ‘Gigapress’ ผลิตรถอีวีแบรนด์ Zeekr

Geely ตามรอย Tesla เตรียมใช้ ‘Gigapress’ ผลิตรถอีวีแบรนด์ Zeekr

อัปเดตล่าสุด 5 พ.ค. 2566
  • Share :
  • 2,018 Reads   

Geely เตรียมใช้ ‘Gigapress’ เทคโนโลยีเดียวกับเทสลาลดต้นทุนการผลิต ลดน้ำหนักยานยนต์ และเพิ่มความแข็งแรงให้ตัวถัง

วันที่ 27 เมษายน 2023 รอยเตอร์รายงาน Geely ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่จากจีน เตรียมใช้เทคโนโลยี Gigapress เครื่องฉีดไดคาสติ้งอะลูมิเนียมขนาดใหญ่แบบเดียวกับที่เทสลาใช้ เพื่อลดต้นทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Zeekr

“Gigapress คือโซลูชันเครื่องฉีดไดคาสติ้งขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อหล่อโครงสร้างตัวถังยานยนต์ทั้งชิ้นจากอะลูมิเนียม ลดต้นทุน และลดเวลาในการประกอบตัวถัง”

โซลูชันนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดย Idra Group ซึ่งเครื่องใหญ่ที่สุดขณะนี้มีแรงปิดแม่พิมพ์ (Clamping Force) มากกว่า 9,000 ตัน ถูกใช้ในการผลิตชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งจะถูกนำไปประกอบกับพื้นรถและแบตเตอรี่ ด้านนาย Riccardo Ferrario ผู้จัดการทั่วไปจาก Idra Group เผยว่า Gigapress สามารถลดต้นทุนการผลิตอีวีของเทสลาได้มากถึง 40%

Advertisement

นาย Jiang Kehong หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีการผลิตจาก Zeekr เผยกับรอยเตอร์ว่า Gigapress ถูกนำมาใช้ในการผลิตรถแวนอเนกประสงค์แบบ 6 ที่นั่ง Zeekr 009 ซึ่งช่วยลดการเชื่อมชิ้นส่วนได้มากถึงเกือบ 800 จุด ลดข้อผิดพลาด ช่วยให้ยานยนต์มีน้ำหนักเบาลง มีโครงสร้างที่แข็งแรงขึ้น และช่วยให้ขับขี่ได้ดีขึ้นด้วย โดยเทคโนโลยีนี้จะถูกใช้ในการผลิต Zeekr รุ่นอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย

ไม่เพียงแต่ Geely เท่านั้น แต่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ ค่ายรถจีนอย่าง Xpeng ยังมีการนำเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันมาใช้ หรือกระทั่ง General Motors ก็เช่นกันที่นำไปใช้ในการผลิต Cadillac Celestiq

ส่วน Volvo ซึ่งปัจจุบันมี Geely เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ได้ประกาศแผนลงทุนองค์ความรู้ด้านการผลิตอีวี รวมถึง “Mega-casting”  ในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม Gigapress ยังคงมีข้อเสียอยู่ คือ การซ่อมบำรุง สำหรับการฉีดตัวถังยานยนต์ขึ้นเป็นชิ้นเดียวทำให้สามารถซ่อมบำรุงได้ยากแม้จะมีความเสียหายไม่มากนัก เนื่องจากรถยนต์รุ่นที่ผ่านมาสามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนบังโคลนหรือกันชนได้ แต่หากผลิตด้วย Gigapress อาจจะต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนทั้งช่วงหน้าหรือช่วงหลังของรถ

ด้วยข้อกังวลนี้เอง ทำให้ GM อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในเทคโนโลยีที่มีขนาดเล็กลง โดยวิศวกรเรียกมันว่า “smaller-scale giga-casting” ซึ่ง GM ได้ใช้เทคโนโลยี “mega precision sand casting” มาออกแบบ Cadillac Celestiq ทำให้มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนและความยืดหยุ่นในการผลิตชิ้นส่วนช่วงล่าง แบ่งเป็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่ 6 ชิ้น ที่นำมาเชื่อมเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถซ่อมแซมได้ด้วยเทคโนโลยีที่ GM มีอยู่

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับโตโยต้าเผยกับรอยเตอร์ว่า โตโยต้ากำลังอยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยี Gigapress ผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็ก เพื่อให้ซ่อมแซมได้ง่าย รองรับกับโมเดลหลายรุ่นของโตโยต้าที่จะออกสู่ถนนทั่วโลก 

ทางด้าน Zeekr เอง ก็ได้ออกแบบให้ยานยนต์สามารถซ่อมแซมได้ด้วยการเปลี่ยนชิ้นส่วนเป็นชิ้นย่อย ๆ แทนการต้องเปลี่ยนยกชุดเช่นกัน

 

#Geely #Zeekr #Gigapress #ยานยนต์ #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH