อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ

สกพอ. คาด อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค หนุนลงทุน "หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ" 5 แสนล้านใน 3 ปี

อัปเดตล่าสุด 6 ม.ค. 2565
  • Share :
  • 1,208 Reads   

สกพอ. เผย อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทักษะ ยกระดับสู่โรงงานอัจฉริยะ 4.0 สร้างการลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากภาคอุตสาหกรรม คาดว่าใน 3 ปีข้างหน้าจะเกิดลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชม อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค (EEC Automation Park) ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์พร้อมร่วมหารือ และติดตามความคืบหน้าการถ่ายทอดเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม ที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรภาคอุตสาหกรรม ยกระดับภาคการผลิตของประเทศไทย โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จาก สกพอ. และ ออโตเมชั่น พาร์ค เข้าร่วม ณ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค ถือเป็นการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่าง อีอีซี และบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นศูนย์เครือข่ายความร่วมมือระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และดิจิทัล ที่จะเป็นฐานสำคัญ ขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี ก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะ ตอบโจทย์การพัฒนากระบวนการผลิตที่ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า สร้างทักษะแรงงาน อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน สร้างนวัตกรรมขั้นสูงแบบครบวงจร ตั้งแต่การสั่งสินค้า ผลิต และจัดเก็บสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติ ร่วมไปกับการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร เสริมทักษะด้านดิจิทัลเพื่อให้สามารถทำงานกับระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้จริง รวมทั้งยังครอบคลุมถึงการให้คำปรึกษาโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตที่ทำได้จริง การหาแหล่งเงินเพื่อลงทุนจากภาครัฐ และการเป็นพื้นที่ทดสอบต้นแบบและนวัตกรรม (Sandbox) ของอีอีซี เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป

นอกจากนี้ อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค จะยกระดับไปสู่ ศูนย์เครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร หรือ EEC-NET ด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสู่โรงงานอัจฉริยะ ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี จะได้รับความรู้ และเกิดการใช้ระบบสายการผลิตอัตโนมัติแบบดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมในพื้นที่อีอีซี 100% แล้วเพิ่มขึ้น เกิดบริการข้อมูลฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ในรูปแบบการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทในกลุ่มพันธมิตรเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง

โดย อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค จะสามารถฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความชำนาญให้แก่บุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะทักษะด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ได้มากกว่า 25 หลักสูตร โดยตั้งเป้าหมายจะพัฒนาให้ได้ประมาณ 2,000 คน/ปี และภายใน 5 ปี จะเกิดบุคลากรที่ชำนาญได้สูงถึง 15,000 คน ยกระดับให้ไทยก้าวสู่ยุคใช้นวัตกรรมขั้นสูง และเกิดโรงงานอัจฉริยะ 4.0 อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการขับเคลื่อน อีอีซี ออโตเมชั่นพาร์ค จะสร้างความเชื่อมโยง Ecosystem เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะใช้นวัตกรรมนำการผลิต ดึงดูดเงินลงทุนนวัตกรรมขั้นสูงจากนักลงทุนทั่วโลก โดยคาดว่า การลงทุนด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เป็นเครื่องมือสำคัญให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้า จะเกิดลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท/ปี โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายให้โรงงานในอีอีซี เริ่มประยุกต์ใช้เตรียมความพร้อมสำรวจการออกแบบระบบและเชื่อมหาแหล่งทุนได้ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ยกระดับแรงงานไทยให้ชำนาญด้านนวัตกรรมขั้นสูง เกิดการจ้างงาน เงินเดือนและรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH