ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 (ท่าเทียบเรือ F)

แหลมฉบัง เฟส 3 (ท่าเทียบเรือ F) จ่อชง ครม. อนุมัติ ลงนามสัญญากลุ่มกิจการร่วมค้า GPC

อัปเดตล่าสุด 19 พ.ย. 2564
  • Share :
  • 2,921 Reads   

ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) มูลค่าโครงการรวม 1.1 แสนล้านบาท จ่อชง ครม. อนุมัติ ลงนามสัญญากลุ่มกิจการร่วมค้า GPC กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี - พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล - ไชน่า ฮาร์เบอร์

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F หลังสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการฯ กับกิจการร่วมค้า GPC เรียบร้อยแล้วและผ่านการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แล้วอยู่ระหว่างเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ

หลังจากผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้ว จะลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยการท่าเรือฯ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อที.อี.ยู. และกิจการร่วมค้า GPC จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหายฯ ในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท (แบ่งเป็น กทท. ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาทและท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท) โดย กทท. จะเริ่มดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปีวงเงินเอกชนลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ กทท. ได้ดำเนินการจัดทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเลกับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี วงเงินรวม 21,320 ล้านบาท เพื่อรองรับงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือตู้สินค้า ท่าเรืออเนกประสงค์ ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเรือบริการ งานระบบรางและย่านรถไฟ ซึ่งจะดำเนินการต่อไปในอนาคต และ กทท. ได้มีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ คาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และหลังจากได้รับการอนุญาตแล้วจะเริ่มดำเนินการงานทางทะเลทันที พร้อมกันนี้ กทท. ได้ว่าจ้าง บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่งคอลซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอลซัลแตนส์ จำกัด เพื่อควบคุมงานก่อสร้างโครงการฯ วงเงิน 898 ล้านบาท โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
 
การดำเนินการดังกล่าว กทท. รับผิดชอบในวงเงินงบประมาณในส่วนงานโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค การก่อสร้างถนน สร้างระบบทางรถไฟ และท่าเทียบเรือชายฝั่ง ทั้งนี้ การท่าเรือฯ จะออกหนังสือเริ่มงาน NTP (Notice to Proceed) ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เริ่มงานเกี่ยวกับอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ลานวางตู้สินค้า ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรทั้งหมด เช่น ปั้นจั่นหน้าท่า ฯลฯ ได้ประมาณปลายปี 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการในปี 2568 เพื่อให้ทันการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกทางหนึ่ง

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2564 การท่าเรือฯ มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า ณ ท่าเรือแหลมฉบัง 9.8 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.18 และปริมาณเรือเทียบท่ารวม 11,041 เที่ยว ลดลง ร้อยละ -0.46 มีกำไรสุทธิในภาพรวมของ กทท. ประมาณ 6,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.99 % เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH