กนอ. จับมือ ส.อ.ท. ขับเคลื่อนมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor

กนอ. จับมือ ส.อ.ท. ขับเคลื่อนมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor

อัปเดตล่าสุด 31 พ.ค. 2567
  • Share :
  • 2,397 Reads   

กนอ. ร่วมกับ ส.อ.ท. จัดงานสัมมนา “How to move Sustainable Supply Chain ลดความเสี่ยง สร้างมาตรฐาน ต้องเลือก Waste Processor อย่างไร” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการเลือกผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor 

31 พฤษภาคม 2567 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานสัมมนา “How to move Sustainable Supply Chain ลดความเสี่ยง สร้างมาตรฐาน ต้องเลือก Waste Processor อย่างไร” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการเลือกผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor และให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 เพื่อป้องกันปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างไม่ถูกต้องและเหมาะสม ณ ห้องธาราดล อาคารคลับเฮ้าส์ ชั้น 3 โรงแรม ซัมมิท วินด์มิลล์ กอล์ฟ สวีท โฮเทล แอด สุวรรณภูมิ

ต่อยอดจากในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ที่ กนอ. และ ส.อ.ท. ได้ผนึกกำลังส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ส.อ.ท. 11 กลุ่ม ประกาศเจตนารมณ์การเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable supply chain) ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้นโยบายดังกล่าวขยายไปสู่ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น จึงได้ชูประเด็นในด้านการลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากการจัดการกากอุตสาหกรรม 

นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ (พัฒนายั่งยืน) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า “กนอ.ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งกำกับดูแลการประกอบกิจการและระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ด้วยวิสัยทัศน์ "นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน" โดยการขับเคลื่อนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นการสร้างสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านผลกระทบจากมลพิษที่อาจเกิดจากภาคอุตสาหกรรมควบคู่กับการส่งเสริมความมั่นคงทางด้านธุรกิจ และด้วยนโยบาย WISH กนอ. จะสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง สอดรับนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและขอรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) เพิ่มมากขึ้น กนอ. ได้ประกาศสิทธิประโยชน์/มาตรการจูงใจต่อการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สำหรับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม โดยจะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าบริการคำขอ เฉพาะคำขอด้านการใช้ที่ดินและประกอบกิจการ และด้านสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 – 30 กันยายน 2567 โดยสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบอนุมัติอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (e-Permission Privilege : e-PP) ของ กนอ.”

ดร.ชนะ ภูมี รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ชึ่งได้กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และกล่าวว่า “ ส.อ.ท. เราเน้นการส่งเสริมและผลักดันมาตรฐาน Eco Factory For Waste Processor ให้เป็นที่รู้จักผ่านกลไกทางการตลาด และการส่งเสริมระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการเลือกใช้บริการของผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor เนื่องจากผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับการดำเนินธุรกิจในแง่ของการผลักดันการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และจะมีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรม” 

หากผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator - WG) ได้ปฏิบัติตามนโยบายการเลือกใช้บริการผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย (Waste Processor - WP) ที่ได้การรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor จะทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ประกอบการ Waste Processor รายดังกล่าวได้ปฎิบัติตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ นำไปสู่การลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาการจัดการของเสียกลับมาสู่ตนเอง และหากผู้ประกอบการ Waste Processor ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor นอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้าแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้ด้วย 

ภายในงานสัมมนา ยังได้รับเกียรติจากนายเอกบุตร อุตมพงศ์ รักษาการนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม บรรยายในหัวข้อ “หลักสำคัญของการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” และ รศ.ดร. โกวิท สุวรรณหงษ์ รองคณบดีคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยบูรพา บรรยายในหัวข้อ “Eco Factory for Waste Processor มาตรฐานที่ช่วยเพิ่มคุณภาพ Waste Processor” นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาหัวข้อ “อนาคตของ Waste Generator กับการเลือกใช้บริการ Waste Processor ที่มีคุณภาพ” จากตัวแทนภาคอุตสาหกรรม โดยนางสุภาวิณี กฤษณาวัฒนา Head of Environmental Excellence Center จากบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และนายภูมิพัฒน์ รักษาสัตย์ ผู้แทนบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อีกทั้งการบรรยายเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างความมั่นใจให้คู่ค้าธุรกิจสำหรับ Waste Processor โดยนางสาววนิดา วรพิทยาฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) และนางสาวมินตรา เรืองรัศมีโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมสุลาลัย จำกัด และฟังบทสรุปแนวทางการประกาศนโยบายเลือกใช้ Waste Processor ที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor จากนายปรีดา วัชรเธียรสกุล อดีตประธานคณะทำงานส่งเสริมมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) 

นอกจากนี้ บริเวณหน้างานยังมีการออกบูธของผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor มาร่วมให้ข้อมูลและคำแนะนำบริการแก่ผู้ร่วมงานสัมมนา โดยภายในงานได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการทั้ง Waste Generator และ Waste Processor และมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 90 ราย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการผลักดันนโยบายการเลือกใช้ Waste Processor ที่ได้การรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเติบโตทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ และสามารถก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH