ห่วง “โควิดอาเซียน” คลื่นลูกที่สอง วิกฤตชิปขาดตลาด

ห่วง “โควิดอาเซียน” คลื่นลูกที่สอง วิกฤตชิปขาดตลาด

อัปเดตล่าสุด 6 ต.ค. 2564
  • Share :
  • 1,829 Reads   

การระบาดของโควิดในอาเซียนกระทบธุรกิจ post-process ของชิปยานยนต์ หวั่นก่อตัวเป็นคลื่นลูกที่สองของวิฤตชิปขาดตลาด

  • ฟรี ทดลองวัดชิ้นงานอะไหล่ วัดทุกจุดใน 3 วินาที ด้วยเครื่องดิจิตอลโปรไฟล์โปรเจคเตอร์ Keyence คลิกเลย
Advertisement

เป็นที่ทราบกันดีว่า ค่ายรถญี่ปุ่นหลายรายตั้งฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาคอาเซียน แต่หากเจาะลึกลงไปจะพบว่า ยังมีฐานการผลิตชิปยานยนต์ในภูมิภาคนี้อีกด้วย โดยเฉพาะกระบวนการ post-process

การผลิตชิป Semiconductor แบ่งเป็นสองกระบวนการหลัก คือ pre-process และ post-process 

กระบวนการ pre-process หมายถึงการผลิตสารกึ่งตัวนำ, ซิลิคอนเวเฟอร์, แผงวงจร, และอื่น ๆ ซึ่งการผลิตชิ้นงานเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรประสิทธิภาพสูง ราคาแพง ทำให้มีเพียงบริษัทที่มีเงินลงทุนมหาศาลเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้

กระบวนการ post-process คือ กระบวนการตัดเวเฟอร์เป็นชิปตามขนาดที่ต้องการ, การบรรจุและติดตั้งชิป, และการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรหรือเงินทุนสูงเท่า  pre-process และใช้แรงงานเป็นหลัก ทำให้เอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่รวมโรงงาน post-process เนื่องจากมีค่าแรงถูกกว่ายุโรปและสหรัฐฯ

“การระบาดของโควิดในอาเซียนคราวนี้จึงเหมือนซ้ำเติมปัญหาชิปขาดตลาด และกำลังกลายเป็นคลื่นลูกที่ 2 ของวิกฤตครั้งนี้”

ที่ผ่านมา ธุรกิจผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์แบบ post-process มักให้ความสำคัญกับค่าแรงและซัพพลายเชนเป็นหลัก ทำให้โรงงานหลายแห่งมีพนักงานจำนวนมาก ยากต่อการย้ายสายการผลิต

นอกจากนี้ยังไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่า หากย้ายฐานการผลิตแล้วจะไม่เกิดการระบาดของโควิด หรือโรคอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย ทำให้การแก้ปัญหานี้ลำบากมากกว่าโรงงาน pre-process ที่กระบวนการผลิตส่วนใหญ่ดำเนินโดยเครื่องจักร และมักเป็นบริษัทที่มีเงินลงทุนมหาศาลอยู่แล้วเป็นอย่างมาก

“โดยเฉพาะมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปยานยนต์สัดส่วน 13% ของตลาดโลก และยังเป็นฐานการผลิตชิปยานยนต์ของบริษัทชั้นนำจำนวนมาก เช่น Infineon, NXP Semiconductors, STMicroelectronics NV, และ Renesas Electronics”

การระบาดของโควิดในมาเลเซีย ทำให้โรงงานหลายแห่งไม่สามารถผลิตได้อย่างเต็มกำลัง เนื่องจากจำเป็นต้องป้องกันการระบาดของโรค อีกทั้งยังมีการกระจายวัคซีนที่ล่าช้ากว่ากว่าในประเทศอื่น ๆ ไปจนถึงโรงงานบางแห่งซึ่งโตโยต้ารายงานว่าถูกรัฐบาลมาเลเซียสั่งให้ยุติการผลิตชั่วคราวในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สำหรับสถานการณ์ของโรงงานผลิตชิปอื่น ๆ หลายบริษัทยังดำเนินการผลิตได้อยู่ รวมถึงโรงงาน Renesas Electronics ในญี่ปุ่นซึ่งมีเหตุไฟไหม้ช่วงต้นปีที่ผ่าน ปัจจุบันมีรายงานว่าสามารถดำเนินการผลิตได้ตามปกติแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าในไตรมาสที่ 4 นี้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในอาเซียนหรือไม่

สรุปบทความ

คลื่นลูกที่ 2 ของวิกฤตชิปขาดตลาดนี้ มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะไม่ใช่แค่ปัญหาระยะสั้น แต่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตในระยะยาวไปอีกหลายปี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านสูยุครถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการใช้ชิปจำนวนมาก 

 

ชมคลิป “โควิดอาเซียน” คลื่นลูกที่ 2 วิกฤตชิปขาดตลาด

 



#ชิปยานยนต์ #ชิปขาดตลาด #วิกฤตชิปขาดตลาด #ชิปเซมิคอนดักเตอร์ #ขาดแคลนแรงงาน #โควิดอาเซียน #ฐานการผลิตยานยนต์ #ASEAN #ผลกระทบ COVID-19 ต่อธุรกิจ #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH