อนาคตแห่งยานยนต์และการคมนาคมในเมืองใหญ่

อัปเดตล่าสุด 18 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 1,270 Reads   

ในงาน Buhler Networking Days 2019 เมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคม 2562 ที่จัดขึ้น ณ เมืองอุซวิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการบรรยายเกี่ยวกับความยั่งยืนผ่านงานวิจัยโดยผู้นำด้านนวัตกรรมของโลก หนึ่งในนั้นคือ Andreas Welter หัวหน้าทีมวิจัยโครงการยานยนต์แห่งอนาคตจากบริษัท BMW ในหัวข้ออนาคตแห่งการคมนาคมในเมือง โดยมุ่งแก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน 

ในงานนี้ Andreas ได้วิเคราะห์และนำเสนอวิธีแก้ปัญหาโดยแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ คือ การบริหารจัดการ ระบบขนส่ง ยานพาหนะ และโครงสร้างพื้นฐาน

1. การบริหารจัดการ

วิธีเบื้องต้นในการแก้ปัญหาคือ ลดความต้องการเดินทางในเมืองใหญ่ โดยจัดสรรพื้นที่ให้มีจำนวนเที่ยวที่ต้องเดินทางน้อยลงด้วยการนำสถานที่หลักในชีวิตประจำวัน คือ แหล่งพักอาศัย ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า/ร้านค้า และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ให้มาอยู่ใกล้กันในระยะที่เดินเท้าได้ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการปรับปรุงความคล่องตัวของการจราจร โดยใช้คาดการณ์ปัญหาที่จะเกิดขึ้น และหลีกเลี่ยงปัญหานั้น ๆ ได้

2. ระบบ

Andreas ได้แบ่งการขนส่งออกเป็น 3 ประเภท และวิเคราะห์ไว้ดังนี้

  • รถยนต์ส่วนตัว - เหมาะสำหรับการขับขี่ในเมืองเพราะสะดวกรวดเร็ว และสามารถขนส่งคนหลายคนในเวลาเดียวกัน แต่ปัจจุบันมีปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวอย่างหนาแน่นในเขตตัวเมือง โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีผู้ขับขี่แค่คนเดียวต่อคัน 
  • การขนส่งสาธารณะ – ถือเป็นระบบโครงสร้างสำคัญของเมืองที่จำเป็น มีข้อดี คือ สามารถขนส่งคนจำนวนมากไปในแต่ละจุดของเมืองที่มีการเดินทางเข้าออกบ่อย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ไม่เหมาะกับพื้นที่คนอยู่น้อยและไม่ค่อยมีการเดินทาง
  • ODM (On Demand Mobility) – คือ ระบบบริการรถยนต์ตามความต้องการ เช่น เช่ารถยนต์หรือจักรยานซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในยุคดิจิทัล เหมาะสำหรับใช้เดินทางระยะไกลสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้รถตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด บริการนี้จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพื่อรองรับระบบเช่นกัน 

ในความเป็นจริงนั้น ความต้องการในการเดินทางเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีการขนส่งประเภทใดดีที่สุดและสามารถตอบโจทย์แก้ทุกปัญหาของการขนส่งมวลชนได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการต่าง ๆ ร่วมกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้การจราจรโดยรวมนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน

3. ยานพาหนะ

Andreas ได้กล่าวถึงรถยนต์ที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตไว้ 2 ประเภท ดังนี้

  • BEV (Battery Electric Vehicle) - คือ รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ นับเป็นวิธีแก้ปัญหาการจราจรในใจกลางเมืองที่ดีที่สุด เพราะไม่สร้างมลพิษเสียง ไม่ปล่อยก๊าซพิษ ขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เพราะเป็นรถยนต์แบบใหม่ซึ่งลูกค้าไม่ค่อยคุ้นเคย จึงควรมีการสนับสนุนผู้ใช้งานโดยอาจให้เป็นสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ที่จอดรถฟรี การลดภาษี หรือลดราคาแบตเตอรี่ เป็นต้น
  • PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) - คือ รถยนต์พลังงานไฮบริดที่สามารถชาร์จไฟได้ โดยสามารถใช้ได้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน เหมาะที่จะใช้ในส่วนรอบ ๆ เมืองเพราะสามารถขับเคลื่อนได้ไกลกว่า BEV โดยไม่จำเป็นต้องมีที่ชาร์จอยู่ใกล้ ๆ อีกทั้งประหยัดและสร้างมลพิษน้อยกว่า เพราะขนาดแบตเตอรีเล็กกว่า BEV รวมไปถึงวัสดุที่ใช้ในการผลิตยังหาได้ง่ายจากทรัพยากรในยุโรปเอง จึงลดการพึ่งพาแหล่งภายนอกอีกด้วย

 
4. โครงสร้างพื้นฐาน

แน่นอนว่าถ้าจะใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ก็ต้องมีแหล่งชาร์จไฟฟ้า ที่สะดวกที่สุดก็คือ ที่บ้าน หรือที่ทำงาน เพราะจอดรถเป็นเวลานาน โดยที่ชาร์จต้องมีคุณสมบัติเหมือนการชาร์จ Smartphone ดังต่อไปนี้

  1. ไม่ต้องรอ
  2. เข้าถึงได้ง่าย
  3. ใช้พลังงานน้อย
  4. ราคาประหยัด 

 

เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้รถยนต์ในปี 2030 ของยุโรป BMW ต้องขายรถพลังงานไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตทั้งหมด โดยเน้นกระจายสินค้าไปยังบริเวณที่ประชากรมีฐานะดีและอาศัยอยู่หนาแน่น ซึ่งคาดว่าจะมียอดเป็น 40% ของรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายทั้งหมด นอกจากนี้ยังคาดอีกว่าการใช้รถพลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 15% ของรถยนต์ทั้งหมดในเขตเมืองหลัก ซึ่งในปัจจุบันยังมีเพียงแค่ 1% เท่านั้น 

โดยสรุปแล้ว ภายในปี 2030 จะมีรถออกใหม่ถึง 700,000 คัน โดย 105,000 คันในนั้นจะเป็นรถไฟฟ้า และคาดว่าจะมีการชาร์จรถถึง 150,000 คันต่อวัน จึงต้องมีเครื่องชาร์จไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ในอัตราส่วนดังนี้

  1. 45% ที่บ้าน
  2. 35% ที่ทำงานซึ่งควรเป็นที่จอดรถของพนักงาน
  3. 20% ที่ข้างถนน โดยอาจเป็นเครื่องชาร์จสำหรับการจอดแค่ระยะเวลาสั้น ๆ หรือเครื่องชาร์จความเร็วสูงสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือรถที่ใช้ในการโฆษณา

 

ก่อนจบการบรรยาย Andreas ยังได้ทิ้งท้ายข้อคิดและคำถามเกี่ยวกับอนาคตของการคมนาคมไว้ให้ทุกคนได้คิดกัน ดังนี้

  1. บริการด้านการขนส่งจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จนผู้ใช้งานอาจตามไม่ทันว่ามีนวัตกรรมใหม่ ๆ อะไรบ้าง จึงควรมี Application ที่ช่วยให้ข้อมูลและบริการจัดหาให้ด้วย
  2. ระบบขับขี่อัตโนมัติยังต้องพัฒนาอีกมากกว่าจะสามารถใช้งานทั่วไปได้จริง แต่เราก็ใกล้ความจริงมากแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้จริงจะยอมใช้รถที่ไม่มีคนจริง ๆ ขับหรือไม่ และถ้าในกรณีที่แท็กซี่อัตโนมัตินั้นราคาถูกกว่าการขนส่งสาธารณะจนอาจมีการแข่งขันกันกับระบบดังกล่าว สังคมและรัฐบาลจะยอมรับได้ไหม ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการจราจรจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องตั้งคำถามในเรื่องนี้
  3. ยานพาหนะบินได้ใกล้เป็นความจริงมากขึ้น แต่สุดท้ายอาจไม่สามารถใช้ในเมืองได้ เพราะต้องใช้พลังงานขับเคลื่อนอย่างมาก ทั้งยังสร้างมลภาวะทางเสียง และต้องใช้พื้นที่เยอะในการลงจอดและอาจรวมไปถึงพื้นที่ชาร์จแบตเตอรี่ ในขณะที่ตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพการขนส่ง อาจมีปัญหาเรื่องความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมตามมาหรือไม่ และยังมีข้อสงสัยในด้านความปลอดภัยหากนำมาใช้ร่วมกับระบบขนส่งอื่น ๆ อีกด้วย

 

เกี่ยวกับ Bühler Group

บูห์เล่อ คือผู้ให้บริการด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปและเทคโนโลยีด้านเครื่องหล่อขึ้นรูป การขัดเงาแบบเปียก และเทคโนโลยีเคลือบฟิล์มบางสำหรับใช้ในการผลิตปริมาณมาก และอุตสาหกรรมยานยนต์ ระบบการสแกนแบบแสงความแม่นยำสูง อุปกรณ์จักษุวิทยา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สีทา บรรจุภัณฑ์ และหมึกพิมพ์ ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของเราช่วยให้ผู้ผลิตสามารถผลิตยานพาหนะได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้นและเป็นคู่ค้าที่มาพร้อมกับความพร้อมบูรณ์แบบรอบด้านเพื่ออนาคตของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์