#Robot #Automation #Food Industry

แนวโน้ม "หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ" สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร

อัปเดตล่าสุด 1 ส.ค. 2565
  • Share :
  • 2,303 Reads   

Cobot ทำงานร่วมกับคน เทคโนโลยีเอไอและระบบวิชั่นที่ก้าวหน้าทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานยากได้ดียิ่งขึ้น หุ่นยนต์ที่ใช้วัสดุ food grade ออกแบบมาเพื่อใช้ในไลน์ผลิตอาหาร เหล่านี้กำลังเป็นตัวช่วยลดแรงกดด้นในอุตสาหกรรมอาหารที่เผชิญกับความทัาทายหลายด้าน

ความท้าทายในการจัดหาแรงงาน ตลอดจนความเข้มงวดด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหาร เมื่อพิจารณาร่วมกับความมั่นคงของซัพพลายเชน ทำให้ญี่ปุ่นเร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาลดแรงกดดันในอุตสาหกรรมอาหาร 

Advertisement

ออกแบบโซลูชันหุ่นยนต์ตามภาระกิจ

บริษัท RT Corporation ทำธุรกิจด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ นำเสนอแนวคิดการทำงานร่วมกันระหว่างคนและหุ่นยนต์ให้กับโรงงานทำข้าวกล่องและโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้หุ่นยนต์ราคาถูกจำนวนมาก ทางบริษัทจึงออกแบบโคบอท “Foodly” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์แบบสองแขนสำหรับทำงานที่ไม่ซับซ้อน เช่น การบรรจุไก่ทอดและมันฝรั่งลงในกล่องข้าว ส่วนงานที่ซับซ้อนนั้นจะมอบหมายให้พนักงาน เช่น การตกแต่งสลัดผักให้ดูน่ารับประทานด้วยมะเขือเทศ 

#Robot #Automation #Food Industry

RT Corporation ออกแบบระบบให้พนักงานและโคบอททำงานร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน

Robitto เป็นอีกบริษัทที่นำเสนอหุ่นยนต์ให้อุตสาหกรรมอาหาร โดยพัฒนาหุ่นยนต์หั่นผักที่คว้านแกนผักกาดได้ด้วย AI ที่ติดตั้งในตัวหุ่นยนต์ เดิมทีการคว้านแกนผักกาดทำโดยพนักงาน ทำให้ขนาดไม่มีความแม่นยำ แต่ AI ของหุ่นยนต์หั่นผักสามารถประมวลผลได้ว่าต้องตัดตรงไหนถึงจะเก็บรักษาส่วนที่กินได้มากที่สุดคงไว้ ซึ่งนาย Masami Arai ประธานบริษัทกล่าวว่า สามารถช่วยลดของเสียจากการหั่นผักได้เป็นอย่างมาก

Connected Robotics และ TechMagic ได้พัฒนาหุ่นยนต์เตรียมสลัดมันฝรั่งและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ที่นำระบบวัดระยะห่างแบบ 3 มิติ ระบบเซนเซอร์ และ AI มาใช้ร่วมกับมือหุ่นยนต์ที่ออกแบบขึ้นใหม่ ซึ่งความสำคัญคือ สลัดมันฝรั่งเป็นอาหารที่ไม่เรียบ มีความเหนียว ทำให้การเตรียมสลัดมันฝรั่งด้วยหุ่นยนต์เป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ ทั้งสองบริษัทยังมีหุ่นยนต์รุ่นอื่น ๆ อีก เช่น หุ่นยนต์ทำแฮมเบอร์เกอร์และหุ่นยนต์ลวกเส้นโซบะของ Connected Robotics หุ่นยนต์สำหรับทำพาสต้าของ TechMagic 

หุ่นยนต์ทำจากสเตนเลส 

สำหรับผู้ผลิตรายใหญ่ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ถูกสุขอนามัยและทนต่อการกัดกร่อนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมอาหาร โดย Fanuc มีกำหนดเปิดตัว Parallel Link Robot ซึ่งชิ้นส่วนโลหะผลิตจากสเตนเลส ออกแบบหุ่นยนต์ให้พื้นผิวมีความเรียบเพื่อให้สามารถล้างได้ง่ายโดยไม่เกิดน้ำขังภายในตัวหุ่นยนต์ จึงได้เป็นหุ่นยนต์ที่ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้ง่าย ถูกคาดการณ์ว่าจะนำไปใช้ในบรรจุอาหารดิบจำพวกเนื้อสัตว์ลงในบรรจุภัณฑ์

#Robot #Automation #Food Industry

หุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารจาก Fanuc 

ทางด้าน Yaskawa ได้เปิดตัว MOTOMAN-GP8 หุ่นยนต์ขนาดเล็กสำหรับแปรรูปอาหารเมื่อเดือนตุลาคม 2021 โดยใช้สารเคลือบต้านทานการกัดกร่อนแทนการชุบสี และใช้น็อตสเตนเลส เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลอกของสีและช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่าย คาดว่าจะถูกนำไปใช้ในการลำเลียงและบรรจุอาหาร

ผู้ผลิตเครื่องจักรก็ไม่น้อยหน้า โดย Sodick มีแผนลงทุนราว 1.17 พันล้านเยน หรือราว 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2023 - 2024 เพื่อปรับปรุงโรงงานผลิตเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่จังหวัดอิชิกาวะ เสริมกำลังการผลิตเครื่องจักรผลิตเส้นบะหมี่ และระบบผลิตอาหารจากข้าวปรุงสุก เช่น เครื่องผลิตข้าวปั้น ไปจนถึงเครื่องแปรรูปอาหารอื่น ๆ จำพวกกับข้าวและของหวาน

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อุตสาหกรรมอาหารของญี่ปุ่นมีการเติบโตอย่างมากจนมีการคาดการณ์ว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมอาหารในประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเยน หรือกว่า 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Fuji Electric เป็นอีกบริษัทที่เล็งเห็นถึงตลาดนี้ และได้พัฒนา “Wiserot” ระบบตรวจจับและป้องกันสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปในเครื่องจักรที่มีชิ้นส่วนหมุน และคาดการณ์ว่าในอนาคตที่อุตสาหกรรมอาหารต้องการเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมากขึ้น เทคโนโลยีเช่นนี้ก็จะมีความต้องการมากขึ้นตามไปด้วย

“ขาดแคลนแรงงาน” แรงกระตุ้นความต้องการระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมอาหาร

นาย Yuki Nono ประธานบริษัท FingerVision ผู้พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แสดงความเห็นว่า อีก 1 ปีหลังจากนี้ สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารจะรุนแรงยิ่งขึ้น

โดยปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหารนั้นจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากในหลายกระบวนการ และสิ่งที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมการผลิต คือ การแปรรูปอาหารมีปัจจัยจำนวนมาก วัตถุดิบมีสี ขนาด และรูปทรงที่ต่างกัน หากเทียบกับการผลิตชิ้นส่วนที่มีขนาดตายตัวในสายการผลิตอย่างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ อาหารยังจำเป็นต้องมีราคาถูกจึงจะสามารถแข่งขันในตลาดได้ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารมักพึ่งพาการใช้แรงงานราคาถูกเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิดทำให้ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นจึงลดลง อีกทั้งปัญหาการอ่อนค่าของเงินเยนทำให้ญี่ปุ่นไม่ใช่ตลาดที่แรงงานต่างชาติให้ความสนใจอีกต่อไป

Fuji Electric ได้จัดทำแบบสำรวจแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 206 ราย พบว่า 75.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความเห็นว่ามีจำนวนคนงานไม่เพียงพอ ซึ่งนาย Yuki Nono ประธานบริษัท FingerVision แสดงความเห็นว่าแนวโน้มนี้เองที่กระตุ้นให้อุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องลงทุนในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2028 ตลาดหุ่นยนต์โลกสำหรับอุตสาหกรรมอาหารจะมีมูลค่า 5.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 3.1 เท่าจากปี 2020 อีกด้วย

#Robot #Automation #Food Industry

#Robot #Automation #Food Industry

ความเสี่ยงจากซัพพลายเชน และแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตกลับสู่ญี่ปุ่น

อีกปัจจัยสำคัญคือความไม่มั่นคงของซัพพลายเชนซึ่งเป็นผลจากโควิด, สงครามรัสเซีย - ยูเครน, และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่ง Anritsu ผู้ผลิตเครื่อง X-ray สำหรับตรวจสอบสิ่งแปลกปลอม เปิดเผยว่า ในญี่ปุ่นเริ่มมีแนวโน้มการย้ายกำลังการผลิตอาหารจากจีนและไทยกลับเข้ามาในประเทศแล้ว

#Robot #Automation #Food Industry

หุ่นยนต์แปรรูปเนื้อสัตว์จาก Hanaki Engineering

โดยปัจจุบันญี่ปุ่นอาศัยฐานการผลิตไก่และปลาเนื้อขาวแช่แข็งในไทย เนื่องจากมีค่าแรงถูกทำให้การแปรรูปอาหารมีต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินเยนได้ทำให้การแปรรูปอาหารและการส่งออกกลับมายังญี่ปุ่นมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งอุปสรรคสำคัญคือจะย้ายฐานการผลิตกลับเข้ามาในประเทศที่ประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุอย่างไร

อีกรายที่เห็นพ้องกันคือ Hanaki Engineering ผู้ผลิตเครื่องจักรและหุ่นยนต์สำหรับโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาหุ่นยนต์แปรรูปเนื้อหมู โดยใช้ AI ในการจับภาพและประมวลผลหมูบนสายพานทีละตัว เพื่อให้เครื่องจักรสามารถหั่นแยกชิ้นส่วนของหมูออกได้ในขนาดที่เหมาะสม ซึ่งนาย Eiichi Umiuchi ประธานบริษัท แสดงความเห็นว่า จะรอให้อุตสาหกรรมอาหารขาดแคลนแรงงานก็จะช้าเกินไป และควรเร่งย้ายกำลังการผลิตเนื้อสัตว์กลับเข้ามาในประเทศให้เร็วที่สุด

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH