ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือนสิงหาคม และภาพรวมครึ่งปีแรก ม.ค. - ส.ค.

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 10.7% ภาพรวม 8 เดือนเพิ่ม 11.6%

อัปเดตล่าสุด 5 ก.ย. 2565
  • Share :
  • 1,091 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 113.7 เพิ่มขึ้น 10.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 0.9% จากเดือนก่อนหน้า ภาพรวม 8 เดือนแรก (มกราคม - สิงหาคม) เพิ่มขึ้น 11.6% 

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนสิงหาคม 2565 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 113.7 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 10.7 (YoY) เป็นผลมาจากการปรับสูงขึ้นของราคาสินค้าผู้ผลิตทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย

Advertisement

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.7 ตามต้นทุนการผลิตที่ทยอยปรับสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน และบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม เป็นการปรับสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลง เนื่องจากสินค้าหลายรายการเริ่มปรับราคาลดลงตามราคาพลังงานและความต้องการของตลาดโลกที่ชะลอตัว โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 56.3 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 12.1 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก ยางพารา สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์จากการประมง

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 4.7 16.4 และ 30.3 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อ้อย น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ น้ำมันเชื้อเพลิง/เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนสิงหาคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 10.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.7 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด มันเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ ข้าวนึ่ง น้ำสับปะรด และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิต รวมทั้งค่าขนส่งวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบมีน้อย น้ำตาลทราย ราคาปรับตัวตามภาวะราคาตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โซดาไฟ พลาสติกขั้นต้นและวัตถุดิบ (โพลีเอทิลีน เอทิลีน เบนซีน โพลีโพรพิลีน) และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบและราคาอ้างอิงตลาดต่างประเทศปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลง กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถบรรทุก และรถยนต์นั่ง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องเก็บเกี่ยว กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น-บุผนัง ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เสาเข็มคอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ และแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ และกระดาษคร๊าฟท์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น 

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 56.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ (แร่สังกะสี เหล็ก ดีบุก วุลแฟรม) ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากอุปทานของน้ำมันดิบลดลง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ในขณะที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันโอเปกพลัสยังคงประสบปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 12.1 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วยกลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากยังคงมีความต้องการสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่อง พืชผัก (ต้นหอม พริกสด ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักชี กะหล่ำปลี ผักขึ้นฉ่าย ผักกาดหอม) เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากภาวะฝนตกชุก ส่งผลให้ผักบางชนิดเน่าเสียง่ายและต้นทุนในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา (ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากความต้องการของตลาดกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากต้นทุนในการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย ปูม้า ปลาดุก ปลานิล ปลากะพง และหอยแครง เนื่องจากมีมรสุมพัดปกคลุมประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนสิงหาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.2 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ,95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ซึ่งเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับราคาตลาดโลก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ราคาส่งออกปรับลดลงตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น แผ่นฟิล์มพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง น้ำตาลทราย น้ำสับปะรด สับปะรดกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง เนื้อปลาสดแช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง ข้าวโพดหวานกระป๋อง และอาหารสัตว์เลี้ยง ราคาส่งออกปรับลดลงตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โพลีเอทีลีน โพลีโพรพิลีน โพลีไวนิลคลอไรด์ และโซดาไฟ ราคาปรับลดลงตามราคาตลาดต่างประเทศ ประกอบกับคำสั่งซื้อลดลง เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัว

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ (แร่สังกะสี วุลแฟรม) ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับอินโดนีเซียหันมาส่งออกตามปกติส่งผลให้ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยางลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือยางลดลง กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากโรงงานมีสต็อกที่เพียงพอจึงเสนอรับซื้อในราคาต่ำ ประกอบกับมีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาอ่อนตัวลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง และหัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากเป็นช่วงหน้าฝน ทำให้คุณภาพผลผลิตไม่ดีเพราะเชื้อแป้งต่ำและเน่าเสียมาก ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลานิล ปลายทรายแดง กุ้งทะเล ปลาลัง ปลากะพง ปลาทูสด ปลาสำลี และหอยแมลงภู่ สำหรับสินค้าเกษตรที่ราคาสูงขึ้น ประกอบด้วย ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง พืชผัก (ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักชี กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักขึ้นฉ่าย ผักกาดหอม มะเขือ) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง รวมถึงภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผักบางชนิดเน่าเสียง่าย ผลไม้ (ทุเรียน สับปะรดโรงงาน/บริโภค ชมพู่ ฝรั่ง กล้วยหอม องุ่น เงาะ) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เพราะเป็นช่วงปลายฤดูกาลของผลไม้บางชนิด กลุ่มสัตว์ ได้แก่ ไก่มีชีวิต สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากต้นทุนในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น จากภาคการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ กลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 11.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม​ สูงขึ้นร้อยละ 10.3 
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 63.2 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 7.4 

 

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนกันยายน

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกันยายน 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดต่าง ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง จากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) ต้นทุนการผลิต แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวลงเล็กน้อยในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน รวมทั้งราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ วัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าไฟฟ้า 2) ต้นทุนการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับสูงจากเงินบาทที่อ่อนค่า 3) อุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัว และ 4) ฐานราคาในช่วงที่เหลือของปีเริ่มปรับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดในหลายประเทศ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งความผันผวนของราคาพลังงานโลก อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH