อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 2565 ไตรมาสที่ 2 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 2565 ไตรมาส 2 การผลิตหดตัวต่อเนื่อง ทั้งเหล็กทรงแบนและทรงยาว

อัปเดตล่าสุด 6 ต.ค. 2565
  • Share :
  • 2,757 Reads   

กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 จากการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้งในกลุ่มเหล็กทรงแบนและทรงยาว เช่น เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดเย็น

Advertisement

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมีค่า 97.7 หดตัวร้อยละ 10.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ลดน้อยลงและราคาเหล็กมีแนวโน้มลดลง ทำให้ผู้ใช้มีทางเลือกมากขึ้นจากการซื้อเหล็กต่างประเทศ การผลิตในประเทศจึงลดลง

  • การผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน หดตัวร้อยละ 10.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่การผลิตหดตัวมากที่สุดคือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม หดตัวร้อยละ 28.3 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดเย็น และ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี หดตัวร้อยละ 23.5 และ 10.1 ตามลำดับ

  • การผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว หดตัวร้อยละ 12.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตหดตัวมากที่สุด คือ เหล็กลวดหดตัวร้อยละ 39.7 รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดเย็น และ เหล็กข้ออ้อย หดตัวร้อยละ 22.8 และ 15.5 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 2565 ไตรมาสที่ 2 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3

การบริโภคเหล็กในประเทศไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ​มีปริมาณ 4.7 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 8.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 17.1 จากไตรมาสที่ผ่านมา

  • การบริโภคเหล็กทรงแบน ขยายตัวร้อยละ 13.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการบริโภคเหล็กแผ่นเคลือบอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 28.4 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี หดตัวร้อยละ 14.4 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน หดตัวร้อยละ 9.9

  • การบริโภค​เหล็กทรงยาว ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการบริโภคเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรีดร้อน ขยายตัวร้อยละ 10.0

การนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีมูลค่า 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 19 จากไตรมาสที่ผ่านมา

  • การนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ขยายตัวร้อยละ 8.8 ผลิตภัณฑ์ที่การนำเข้าขยายตัวมากที่สุด คือเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ขยายตัวร้อยละ 113.8 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้า คือ จีน) รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนประเภท Carbon steel และ Stainless steel ขยายตัวร้อยละ 27.6 และ 27.0 ตามลำดับ

  • การนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ขยายตัวร้อยละ 13.0 ผลิตภัณฑ์ที่การนำเข้าขยายตัวมาก คือ ท่อเหล็กไรตะเข็บ ขยายตัวร้อยละ 73.4 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้า คือ จีน) รองลงมา คือ เหล็กเส้น ประเภท Carbon steel ขยายตัวร้อยละ 36.2 และเหล็กลวด ประเภท Stainless steel ขยายตัวร้อยละ 26.5

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 2565 ไตรมาสที่ 2 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 3 ปี 2565 

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 3 ปี 2565 คาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มต่ำลง และมีเหล็กจากรัสเซียเข้ามาในตลาดเอเชียมากขึ้น เพื่อเป็นการหาตลาดแทนตลาดยุโรปทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทย เลือกนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กมากกว่าการซื้อในประเทศ

 

อ่านต่อ: 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH