อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ไตรมาสที่ 3 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4 ปี 2564

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ไตรมาส 3 ปี 2564 และแนวโน้มไตรมาสถัดไป

อัปเดตล่าสุด 2 ธ.ค. 2564
  • Share :
  • 2,057 Reads   

กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 มีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 จากการผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีค่า 95.9 ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.5 แต่หดตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 12.5 เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

  • การผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ขยายตัวร้อยละ  45.7 ผลิตภัณฑ์ที่การผลิตขยายตัวมากที่สุดคือ เหล็กแผ่นรีดเย็น ขยายตัวร้อยละ 106.2 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ขยายตัวร้อยละ 94.6 และ 79.8 ตามลำดับ

  • การผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว หดตัวร้อยละ 11.3 เนื่องจากความต้องการชะลอตัวจากการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร่าง โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตหดตัวมากที่สุดคือเหล็กเส้นกลม หดตัวร้อยละ 43.4 รองลงมา คือ เหล็กเส้นข้ออ้อย หดตัวร้อยละ 32.9 และ ลวดเหล็กแรงดึงสูง หดตัวร้อยละ 10.1

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 2564

การบริโภคเหล็กในประเทศไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ​มีปริมาณ 4.4 ล้านตัน ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 แต่หดตัวจากจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 15.5

  • การบริโภคเหล็กทรงแบน ขยายตัวร้อยละ 25.8 จากการบริโภคเหล็กแผ่นบางรีดเย็น ขยายตัวร้อยละ 87.0 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ขยายตัวร้อยละ 59.8 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ขยายตัวร้อยละ 31.3 

  • การบริโภค​เหล็กทรงยาว หดตัวร้อยละ 20.4 จากการบริโภคเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรีดร้อน หดตัวร้อยละ 29.6 และเหล็กลวด หดตัวร้อยละ 10.3

การนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 มีมูลค่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 88.8 และขยายตัวจากจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 3.3

  • การนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ขยายตัวร้อยละ 77.0 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าขยายตัวมากที่สุด คือ เหล็กเส้น ประเภท Carbon steel ขยายตัวร้อยละ 549.5 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้า คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน) รองลงมาคือ เหล็กเส้น ประเภท Alloy steel ขยายตัวร้อยละ 223.0 และเหล็กลวด ประเภท Stainless steel ขยายตัวร้อยละ 140.0

  • การนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ขยายตัวร้อยละ 92.6 ผลิตภัณฑ์ที่การนำเข้าขยายตัวมากที่สุด คือเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Carbon steel P&O ขยายตัวร้อยละ 576.1 (ประเทศหลักที่ไทย
    นำเข้า คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน) รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Alloy steel ขยายตัวร้อยละ 261.1 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Carbon steel ขยายตัวร้อยละ 214.5

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 2564

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 4 ปี 2564 

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 4 ปี 2564 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประกอบกับราคาเหล็กในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงจึงเป็นโอกาสในการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศอาจทำให้ความต้องการใช้เหล็กชะลอตัวลง

 

อ่านต่อ: 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH