ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2567 เดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัว 1.71%

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2567 เดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัว 1.71%

อัปเดตล่าสุด 1 ส.ค. 2567
  • Share :
  • 331 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัวร้อยละ 1.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง

31 กรกฎาคม 2567 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัวร้อยละ 1.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง หลังขาดกำลังซื้อภายในประเทศ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ด้าน MPI ไตรมาส 2 ปี 2567 หดตัวร้อยละ 0.27 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ 3.58 ชี้ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น กระทบภาคการผลิต และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตของไทยยังคงหดตัว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัวร้อยละ 1.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 58.41 เนื่องจากปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย

ทั้งนี้ การหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2567 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เฉลี่ยอยู่ที่ 94.74 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.27 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ 3.58 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 57.79 ในขณะที่ภาพรวม 6 เดือนแรกปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 97.83 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.01 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.11 สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง

ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนกรกฎาคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด ความเชื่อมั่นและการลงทุนหดตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซา ส่งผลต่อการบริโภคและการค้าในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น โดยภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวในระยะนี้

“สำหรับประเด็นที่สหรัฐฯ ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในสินค้าหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ประมาณร้อยละ 25 ถึง 100 คิดเป็นมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 660,000 ล้านบาท ซึ่งพุ่งเป้าไปที่สินค้าอุตสาหกรรมที่นับเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ของจีนทั้งพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีใหม่ โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยสหรัฐฯ ได้ให้เหตุผลว่าต้องการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ จากความกังวลต่อสินค้าจีนที่อาจทะลักสู่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา อีกทั้ง ยังเป็นการสกัดกั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีน ซึ่งประเด็นการขึ้นภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และภาคอุตสาหกรรมโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมในการขยายการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ทดแทนจีน โดยเฉพาะเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ขณะเดียวกันหากถูกเลือกเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ของจีน จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงต้องมีการปรับสมดุลการนำเข้าสินค้าไม่ให้นำเข้าจากจีนมากจนเกินไป โดยปรับเพิ่มภาษีนำเข้า หากสินค้าที่นำเข้ามีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ” นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมิถุนายน2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

น้ำมันปาล์ม ยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41.90 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากปริมาณผลปาล์มเข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น ตลาดส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคู่ค้าอย่างประเทศอินเดีย จีน ปากีสถาน และยุโรป เนื่องจากราคาในตลาดโลกสูงกว่าในประเทศ

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.58 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบินและน้ำมันเบนซิน เป็นหลัก ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและประชาชนในประเทศ

อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.33 จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ขยายตัวจากตลาดต่างประเทศ ประกอบกับการปรับลดราคาสินค้าลงตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.05 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.08 จาก PCBA และ Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก โดยหดตัวทั้งจากตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนตN

จักรยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.42 ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ประกอบกับความต้องการของประเทศคู่ค้าลดลง

#ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 2567 #Thailand MPI Index 2024 #ดัชนี mpi 2567 #ผลผลิตอุตสาหกรรม industrial production #การส่งออกอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #สศอ.

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH