ทิศทางการลงทุนภาคอุตสาหกรรมหลังโควิด

ทิศทางการลงทุนภาคอุตสาหกรรมหลังโควิด

อัปเดตล่าสุด 8 ต.ค. 2564
  • Share :
  • 6,449 Reads   

แม้ว่าการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมแทบจะหยุดชะงักลง นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของเทคโนโลยี 5G และภารกิจเร่งด่วนของโลกที่กำลังเดินทางสู่ความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2050 สองกุญแจสำคัญที่ผลักดันการลงทุนในปีนี้

Advertisement

♦ เทคโนโลยี CASE

ในปีงบประมาณ 2021 หลายค่ายรถคาดการณ์ว่าจะสามารถฟื้นตัวจากปีงบประมาณ 2020 ได้เป็นอย่างดี โดยผู้ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 6 ค่าย ประกอบด้วยโตโยต้า นิสสัน ฮอนด้า มาสด้า มิตซูบิชิ และซูบารุ เปิดเผยว่าในปีงบประมาณนี้ มีแผนลงทุนเครื่องจักรรวมแล้วเป็นมูลค่า 2.455 ล้านล้านเยน หรือราว 22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยกให้เทคโนโลยี CASE  เป็นการลงทุนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตในระยะกลางและระยะยาว

เทคโนโลยี CASE 
Connected cars, Autonomous / Automated driving, Shared, Electric

โดยใน 6 ค่ายนี้ ทุกค่ายยกเว้นมาสด้าคาดการณ์ว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณนี้ ส่วนมาสด้าเป็นรายเดียวที่คาดการณ์ว่าจะมีกำไรลดลง เนื่องจากได้ลงทุนเครื่องจักรเป็นมูลค่าสูงกว่าปีงบประมาณ 2019 หรือก่อนการระบาดของโควิด

Mr. Kenta Kon เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตโยต้า เปิดเผยว่า โตโยต้ามีแผนลงทุนเครื่องจักรมูลค่า 1.35 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณ 2021 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่แล้ว 4.4% ลงทุนการวิจัยและพัฒนา 1.16 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 6.4% อีกทั้งมีแผนลงทุนในเทคโนโลยี CASE และเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นรวม 20% ภายในปีงบประมาณนี้

Mr. Makoto Uchida ประธานบริษัทนิสสัน เปิดเผยว่า ในปีนี้นิสสันจำเป็นต้องปรับปรุงโรงงานหลายแห่ง และได้เพิ่มเงินลงทุนเครื่องจักร 4.44 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้น 8.5% และมีแผนเพิ่มเงินลงทุนอย่างต่อเนื่องในปีถัดๆ ไป

♦ ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า - ลดคาร์บอน 

Denso, Aisin, และ Toyota Industries ซัพพลายเออร์ท็อปทรีของโตโยต้า รายงานว่าจะเพิ่มเงินลงทุนในปีงบประมาณนี้ขึ้นจากปีก่อน 13.6% เนื่องจากได้รับออเดอร์รถยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยียุคใหม่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

Mr. Yasushi Matsui CRO บริษัท Denso เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทางบริษัทกำลังอยู่ระหว่างเสริมกำลังการผลิตในญี่ปุ่น จีน และอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะการลงทุนในเทคโนโลยี Electrification เพื่อตอบรับการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้า

Hitachi Astemo รายงานว่า ในปีงบประมาณนี้ ทางบริษัทไม่มีแผนเปิดเผยตัวเลขการลงทุน แต่ยืนยันว่าจะเน้นลงทุนชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 5 ปี เป็นงบประมาณรวมทั้งสิ้น 3 แสนล้านเยน

JTEKT เป็นอีกบริษัทที่ไม่เผยแผนลงทุนโดยละเอียด แต่ยืนยันว่าจะมีการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ด้านรถยนต์ไฟฟ้าและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

♦ อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์

ทิศทางการลงทุนภาคอุตสาหกรรมหลังโควิด

ห้องคลีนรูม บริษัท Toshiba Information Equipment

ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 4 ค่ายใหญ่จากญี่ปุ่น ประกอบด้วยฮิตาชิ, พานาโซนิค, มิตซูบิชิ อิเล็คทริค, และโตชิบา มีแผนลงทุนเป็นงบประมาณรวม 1.58 ล้านล้านเยน หรือราว 14,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่แล้ว 29.2%  

ฮิตาชิ รายงานว่า ในปีงบประมาณนี้ บริษัทมีแผนลงทุน 4.33 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้น 20.3% เพื่อชดเชยกับสภาพการลงทุนที่ชะลอตัวในปีที่แล้ว โดยจะเน้นไปที่การลงทุนในธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ เป็นมูลค่า 1.05 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้นถึง 59.8% 

พานาโซนิค มีแผนลงทุน 2.35 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้น 1.7% โดยจะเน้นลงทุนในธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ และแบตเตอรี่ยานยนต์เป็นหลัก

มิตซูบิชิ อิเล็คทริค ลงทุน 2.1 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้น 80.3% เน้นลงทุนในชิ้นส่วน Power Semiconductor และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า

โตชิบา ลงทุน 1.8 แสนล้านเยน โดยเน้นที่ Power Semiconductor เช่นเดียวกัน และมีแผนลงทุนเทคโนโลยีกังหันลม เพื่อตอบรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มอีกด้วย

โซนี่ ปัจจุบันยังไม่ประกาศแผนการลงทุนโดยละเอียด แต่ยืนยันว่าจะลงทุนธุรกิจเซนเซอร์ยานยนต์ 2.85 แสนล้านเยนในปีงบประมาณนี้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการชะลอการลงทุนในปีงบประมาณที่แล้วเพื่อรอดูท่าทีสงครามการค้าและการแบนหัวเว่ยโดยอดีตรัฐบาลทรัมป์

♦ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล  ลงทุนระบบอัตโนมัติ

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากโควิด และคาดการณ์ว่าความต้องการระบบอัตโนมัติหลังจากนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

Mr. Masahiko Mori ประธานบริษัท DMG MORI เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณนี้ บริษัทมีแผนสร้างโรงงานใหม่ที่เซี่ยงไฮ้เป็นมูลค่า 6.3 พันล้านเยน และขยายโรงงานเดิมของ DMG MORI TIANJIN Manufacturing เป็นมูลค่า 3 พันล้านเยน พร้อมคาดการณ์ว่าความต้องการเครื่อง 5 แกนจะเพิ่มขึ้น 

Makino มีแผนลงทุน 1.5 หมื่นล้านเยน โดยจะเน้นไปที่การเสริมกำลังผลิตในจีน และการเสริมกำลังการผลิตเพื่อการส่งออก

Mr. Atsushi Ieki ประธานบริษัท Okuma รายงานว่ามีแผนลงทุนเครื่องจักร 6.4 พันล้านเยนเพื่อตอบรับความต้องการเครื่องจักรกลในญี่ปุ่น พร้อมปรับปรุงสายการผลิตใหม่ และคาดการณ์ว่าความต้องการ Machine Tools ในญี่ปุ่นจะฟื้นตัวอย่างเด่นชัดนับจากราวไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป 

♦ อุตสาหกรรมหนัก

5 บริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมหนักเปิดเผยว่า การระบาดของโควิดทำให้ต้องระมัดระวังในการลงทุนเป็นอย่างมาก และจำเป็นต้องเฝ้าระวังมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

Mitsubishi Heavy Industries และ Kawasaki Heavy Industries เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมหนักเป็นเรื่องยากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้บริษัทโตต่อได้ ก็จำเป็นต้องลงทุนให้มากกว่าปีงบประมาณ 2020

Mitsubishi Heavy Industries และ Mitsui Engineering & Shipbuilding คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณนี้ จะลงทุนรวมแล้วน้อยกว่าปีงบประมาณที่แล้ว และจะเน้นลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มมั่นคง เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน เป็นหลัก

IHI มีความเห็นสวนทางกัน โดยเปิดเผยว่ามีแผนลงทุนเพิ่มขึ้น 30% และกล่าวว่าการลงทุนเพิ่มเป็นเรื่องจำเป็นต่อรายได้ของบริษัท

Sumitomo Heavy Industries มีแผนลงทุนเป็นงบประมาณรวมแล้วสูงกว่าปีงบประมาณ 2019 หรือก่อนการระบาดของโควิด

♦ อุปกรณ์ 5G 

ทิศทางการลงทุนภาคอุตสาหกรรมหลังโควิด

“home 5G HR01” Router 5G สำหรับใช้งานในครัวเรือนจาก NTT DoCoMo

ค่ายมือถือในญี่ปุ่นก็เป็นอีกกลุ่มที่มีแนวโน้มการลงทุนอย่างเด่นชัด โดยมีเหตุผลหลักมาจากการแพร่หลายของเทคโนโลยีเครือข่าย 5G 

Mr. Makoto Takahashi ประธานบริษัท KDDI คาดการณ์ว่าค่ายมือถือทั่วโลกจำเป็นต้องลงทุนอุปกรณ์เพื่อรองรับ 5G เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11% ของรายได้บริษัท

NTT DoCoMo แสดงความเห็นในทิศทางตรงกัน และยืนยันว่ามีตัวเลขใกล้เคียงกัน และเสริมว่าแทบทุกค่ายมือถือจะต้องลงทุนอุปกรณ์ 5G ทั้งสิ้น แต่ได้ย้ำว่าการลงทุน 4G ก็ยังไม่สามารถละเลยได้

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH