FTA, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์

'พาณิชย์' เซ็น FTA ไทย – ศรีลังกา ฉลอง FTA ฉบับที่ 15 ของไทย

อัปเดตล่าสุด 9 ก.พ. 2567
  • Share :
  • 3,531 Reads   

กระทรวงพาณิชย์ลงนาม FTA ไทย – ศรีลังกา นับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย เผยมีการเปิดตลาดสินค้ากว่า 85% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด หรือ 4,000 รายการ เปิดให้ไทยถือหุ้นสาขาบริการได้ถึง 100% ใน 50 สาขาย่อย ให้นักลงทุนไทยถือหุ้นได้ 100% ใน 35 สาขา คาดบังคับภายในปี 2567

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 - นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างการเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ตนและนายกัจจกธุเค นลิน รุวันชีวะ เฟอร์นานโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า พาณิชย์ และความมั่นคงทางอาหาร ของศรีลังกา ได้ร่วมลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – ศรีลังกา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สำนักเลขาธิการประธานาธิบดีศรีลังกา กรุงโคลัมโบ โดยมีนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีศรีลังการ่วมเป็นสักขีพยาน หลังไทยได้สรุปผลการเจรจา FTA ไทย – ศรีลังกา ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 โดยความตกลงดังกล่าวนับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย และฉบับแรกภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ทำให้ปัจจุบันไทยมี FTA รวม 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ ทั้งนี้ คาดว่า FTA ไทย – ศรีลังกา จะมีผลใช้บังคับได้ภายในปี 2567  

“ผมได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งจัดสัมมนาประชาพิจารณ์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนภายใต้ FTA ไทย – ศรีลังกา แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนไทยได้เตรียมใช้ประโยชน์ทันทีที่ความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ” นายภูมิธรรม กล่าว

หลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเร่งจัดสัมมนาประชาพิจารณ์ FTA ไทย – ศรีลังกา เพื่อรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทยเตรียมใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย – ศรีลังกา ในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย โดย FTA ไทย – ศรีลังกา ได้เปิดตลาดการค้าสินค้ากว่าร้อยละ 85 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด โดยเป็นระดับการเปิดตลาดที่เท่าเทียมกันของทั้งสองฝ่าย และมีระยะเวลาในการลด/ยกเว้นอากรในเวลา 16 ปี นับจากความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยสินค้าที่ศรีลังกาจะยกเว้นอากรให้ทันทีคิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด หรือกว่า 4,000 รายการ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปุ๋ย หนังเทียม เคมีภัณฑ์ เยื่อกระดาษและกระดาษคราฟท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลาซาดีน ปลาแซลมอนกระป๋อง อาหารสัตว์ กุ้งแช่เย็น โคกระบือมีชีวิต และเครื่องเงิน

สำหรับภาคบริการ ศรีลังกาเปิดให้ไทยเข้าไปถือหุ้นในสาขาบริการได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ใน 50 สาขาย่อย อาทิ บริการโรงแรมและร้านอาหาร บริการขนส่งทางทะเล บริการนายหน้าและตัวแทนประกันภัย บริการแฟรนไชส์บริการโทรคมนาคม บริการสิ่งแวดล้อม บริการโฆษณา และบริการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ ส่วนภาคการลงทุน ศรีลังกาเปิดให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนโดยถือหุ้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ใน 35 สาขา อาทิ การแปรรูปอาหาร (ผลไม้ ผัก ถั่ว มั่นฝรั่ง) การผลิตสิ่งทอ (ยกเว้นทอผ้าด้วยมือ) การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตยาและเวชภัณฑ์ การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และทันตกรรม

ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและศรีลังกามีมูลค่า 415.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 291.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 124.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูปยาง ผ้าผืน ยางพารา และเคมีภัณฑ์ สินค้านำเข้าสำคัญจากศรีลังกา อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และกาแฟ ชา เครื่องเทศ ทั้งนี้ แม้ศรีลังกาจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือของโลก เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ประกอบกับเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น แร่รัตนชาติ แร่แกรไฟต์ และสัตว์ทะเล เป็นต้น และถึงแม้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา ศรีลังกาจะประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็เริ่มฟื้นตัวและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH