ผลกระทบ การขาดแคลนชิปวงจรรวม (Integrated Circuit: IC)  อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

ผลกระทบของการขาดแคลนชิปวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) ต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

อัปเดตล่าสุด 19 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 7,852 Reads   

ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาชิปวงจรรวม (Integrated Circuit: IC)1 ขาดตลาด ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้ากลุ่มไอที สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมไปถึงสินค้าในกลุ่มยานยนต์ ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตชิปประมวลผลรายใหญ่อย่าง TSMC เผยว่า ชิปประมวลผลจะขาดแคลนไปจนถึงปี 20222 เนื่องจากความต้องการชิปที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1ชิปวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) คือ หน่วยประมวลผลข้อมูลที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน รถยนต์ ฯลฯ เป็นต้น โดยชิปวงจรรวมถูกพัฒนาและผลิตขึ้นจากการนำสารกึ่งตัวนำหลายๆ ชนิดต่อเข้าไปในกับวงจรรวม ซึ่งภายในส่วนประกอบของชิปวงจรรวมจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำที่เป็นทั้งตัวต้านทาน ตัวเก็บประจุ ตัวไดโอด ตัวทรานซิสเตอร์ ตัวเฟต และอื่น ๆ อีกมากมาย 

 

Advertisement

 

1. การแพร่ระบาดโรคโควิด-19

เมื่อปลายเดือนธันวาคม ปี 2019 ที่ผ่านมา ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีน และการแพร่ระบาดดังกล่าวได้ลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลกในเวลาต่อมา ซึ่งนอกจากโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อไลน์การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมด้วย โดยโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงโรงงานที่ผลิตชิปวงจรรวมต้องหยุดไลน์การผลิตชั่วคราวหลายครั้ง และไม่สามารถเดินไลน์การผลิตได้เต็มกำลังซึ่งข้อจำกัดทางการผลิตดังกล่าวได้สวนทางต่อความต้องการใช้งานของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการสินค้าที่มีชิปวงจรรวมเป็นส่วนประกอบสำคัญ 

 

2. ความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากนโยบาย Work from Home และการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกได้มีนโยบายให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านหรือ Work from Home ได้ รวมถึงการออกนโยบายให้มีการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์แทนการเรียนการสอนแบบปกติ ซึ่งนโยบายเหล่านี้ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการอุปกรณ์สำหรับการทำงานและอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น เช่น
คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์แบบพกพา (Laptop) อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage Unit) สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ระบบคลาวด์ และ ระบบ Data Center เป็นต้น ซึ่งความต้องการใช้งานในอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ทำให้ความต้องการชิปสำหรับอุปกรณ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในช่วงครึ่งหลังของปี 20203

นอกจากนี้ การที่ประชาชนใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดโรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัว สมาร์ททีวี เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ อุปกรณ์สำหรับออกกำลังกาย ตลอดจนเครื่องเล่นเกมเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงความต้องการสินค้าตามเทรนด์เทคโนโลยีต่างๆ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Device) นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด อุปกรณ์ IoT และอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยี 5G เป็นต้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชิปวงจรรวมเพิ่มสูงขึ้นด้วย เนื่องจากสินค้าและอุปกรณ์ดังที่กล่าวมานั้นต้องใช้ชิปวงจรรวมเพื่อประมวลผลในการทำงานนั่นเอง

https://www.theverge.com/2021/4/15/22385240/tsmc-chip-shortage-2022-intel-ceo-earnings-graphics-cards-cpus-gpus

https://www.prachachat.net/world-news/news-643379

 

3. ความต้องการชิปวงจรรวมในการผลิตรถยนต์

อุตสาหกรรมยานยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการแพร่ระบาดดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในหลายๆ ประเทศต้องหยุดสายพานการผลิตลงชั่วคราว และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจนผู้ผลิตสามารถกลับมาผลิตรถยนต์ได้ดังเดิม ทางผู้ผลิตเองก็ได้มีการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทดแทนในส่วนของไลน์การผลิตที่ได้หยุดไป ซึ่งนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความต้องการชิปวงจรรวมเพิ่มมากขึ้นจนชิปวงจรรวมเริ่มขาดตลาด ซึ่งในปัจจุบันนั้นการผลิตรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่างก็มีความต้องการใช้ชิปวงจรรวมด้วยกันทั้งสิ้น เพราะว่าชิปวงจรรวมถือเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญในการปร
ะมวลผลและควบคุมการทำงานของรถยนต์หรือเปรียบเสมือนเป็นสมองกลสั่งการนั่นเอง

ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนชิปดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์บ้างแล้ว โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายได้มีแผนปรับลดปริมาณกำลังการผลิตรถยนต์ลงเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณ ชิปวงจรรวมที่คงเหลือในคลังสินค้า มีการพิจารณาตัดฟีเจอร์ด้านเทคโนโลยีบางส่วนออกเพื่อให้สามารถผลิตรถยนต์ได้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงออกประกาศให้หยุดไลน์การผลิตรถยนต์บางรุ่นลง

 

4. ปัญหาอุบัติภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

นอกจากความต้องการใช้ชิปวงจรรวมในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัญหาทางด้านอุบัติภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นฐานการผลิตชิปชื่อดังของโลก ซึ่งมีส่วนทำให้การผลิตชิปวงจรรวมล่าช้าออกไปและไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีอยู่ในปัจจุบัน บริษัทที่เผชิญกับปัญหาอุบัติภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้แก่

1) TSMC (Taiwan Semiconductor ManufacturingCompany)

บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกที่มีฐานการผลิตในไต้หวันต้องเผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2021 ไต้หวันเองก็ได้ประสบกับปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งรัฐบาลไต้หวันยังได้มีมาตรการคุมเข้มการใช้น้ำในหลาย ๆ เมือง และบริษัท TSMC เองก็ได้ถูกขอให้ลดการใช้น้ำลงถึงร้อยละ 7 อีกด้วย ซึ่งปัญหาภัยแล้งและมาตรการควบคุมการใช้น้ำดังกล่าวได้ส่งผลให้บริษัทขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับใช้ในการผลิตชิป

2) Samsung Electronics

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา โรงงานผลิตชิปของ Samsung ที่ตั้งอยู่ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัสต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติอย่างพายุฤดูหนาวรุนแรง จนเกิดเหตุการณ์ไฟดับและน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นได้ส่งผลทำให้โรงงานผลิตชิปของ Samsung ต้องหยุดสายพานการผลิตชิปออกไปอย่างไม่มีกำหนดและนั่นทำให้ชิปในตลาดโลกขาดแคลนหนักเพิ่มขึ้นไปอีก

3) Renesas Electronics

เมื่อเดือนมีนาคม 2021 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุไฟไหม้ที่โรงงานของบริษัทเรเนซัส อิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่น โดยบริษัทดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก ซึ่งทางบริษัทเผยว่าการจัดส่งชิปอาจจะมีความล่าช้าออกไป แต่อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทคาดว่าจะสามารถกลับมาผลิตชิปได้เต็มศักยภาพตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 นี้เป็นต้นไป

 

5. Trade war

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความต้องการชิปวงจรรวม โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศยกระดับมาตรการกีดกันบริษัท Huawei ของจีน ซึ่งทำให้ Huawei ไม่สามารถเข้าถึงชิปและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้ ส่งผลกระทบต่อไปยังการขาดแคลนชิปวงจรรวมสำหรับการผลิตอุปกรณ์สื่อสารระบบ 5G และสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ การกีดกัน Huawei ของสหรัฐฯ ยังทำให้บางบริษัทต้องการชิปวงจรรวมเพิ่มขึ้นเพื่อวางแผนผลิตสินค้าป้อนเข้าสู่ตลาดแทน Huawei รวมไปจนถึงการกักตุนชิปวงจรรวม เนื่องจากมีความกังวลในปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน อีกด้วย

 

6. การขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิตชิป

ภาวะการขาดแคลนทรายในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตชิปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากทรายถือเป็น Wafer Substrate สำหรับการผลิตชิป โดยการขาดแคลนทรายดังกล่าวเกิดจากความต้องการใช้ทรายเป็นจำนวนมากในการผลิตขวดแก้ววัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้ คาดว่าปัญหาการขาดแคลนทรายน่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตชิปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต่อไปอีกหลายปี

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมชิปวงจรรวม (Integrated Circuit : IC) ของโลก

Supply Chain ของอุตสาหกรรมชิปวงจรรวม

กระบวนการผลิตชิปวงจรรวม (Integrated Circuits: IC) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (ภาพที่ 1)

1) การผลิตส่วนหน้า (Front End) เริ่มตั้งแต่การออกแบบวงจรผ่านซอฟต์แวร์ CAD (Computer Aided Design) สร้างชิ้นส่วนด้วยแบบจำลอง Model รวมไปจนถึงการเอาแผ่นเวเฟอร์ Silicon มาผลิตให้ได้ลายวงจรตามที่ต้องการ หลังจากที่ได้แผ่นเวเฟอร์จากกระบวนการเตรียมแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Preparation) แล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะเป็นการสร้างวงจรรวมลงบนแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication)

2) การผลิตส่วนหลัง (Back End) คือ การเอาแผ่นวงจรรวมที่อยู่บนแผ่นเวเฟอร์มาทดสอบและตัดแบ่งบรรจุหรือ IC Packaging จากนั้นจึงทดสอบชิปแยกและบรรจุ พร้อมส่งจำหน่าย

การผลิตชิปวงจรรวม

ที่มา: https://www.nexty-ele.com/nat/wp-content/uploads/sites/3/2017/10/6.-Manufacturing-process-of-seminconductor-and-course-of-failure-analysis.pdf

 

ภาพรวมมูลค่าการค้าชิปวงจรรวมของโลก

กราฟที่ 1 มูลค่าการค้าชิปวงจรรวมของโลก รายเดือน ปี 2020-2021 (ม.ค.-ก.พ.)

มูลค่าการค้าชิปวงจรรวมของโลก

ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมโดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

จากกราฟที่ 1 แสดงให้เห็นว่า ช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา การค้าสินค้าชิปวงจรรวมทั่วโลกมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนธันวาคม 2020 ที่มูลค่าการค้าชิปวงจรรวมทั่วโลกสูงถึง 162,878 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่ามูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เกิดจากความต้องการนำเข้าชิปวงจรรวมเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยี ซึ่งผู้บริโภคได้มีความต้องการในสินค้ากลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากนโยบาย Work from Home และการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ความต้องการในสินค้าที่มีชิปวงจรรวมเป็นส่วนประกอบกลับมีมากกว่ากำลังการผลิต ส่งผลให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิปวงจรรวม โดยมูลค่าการค้าชิปวงจรรวมทั่วโลกลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ต้นปี 2021 เป็นต้นมา

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมชิปวงจรรวม (Integrated Circuit : IC) ของไทย

ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าและส่งออกชิปวงจรรวมของไทย สำหรับประเทศไทยนั้น สินค้าชิปวงจรรวมถือเป็นสินค้าสำคัญที่ไทยมีมูลค่าการค้าค่อนข้างสูง โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการนำเข้าชิปวงจรรวม 12,266 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเป็นสินค้าที่นำเข้าสูงสุดในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 23 ในขณะที่การส่งออกชิปวงจรรวมมีมูลค่า 7,101 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 11 นอกจากนี้ ในปี 2020 ที่ผ่านมา ไทยยังนำเข้าชิปวงจรรวมมากเป็นอันดับที่ 12 และส่งออกมากเป็นอันดับที่ 13 ของโลกอีกด้วย ทั้งนี้ ไทยมีมูลค่าการนำเข้าชิปวงจรรวมสูงกว่ามูลค่าการส่งออก โดยการนำเข้าชิปวงจรรวมส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้า เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เป็นต้น

กราฟที่ 2 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกชิปวงจรรวมของไทย รายเดือน ปี 2020-2021 (ม.ค.-ก.พ.)

มูลค่าการนำเข้าและส่งออกชิปวงจรรวมของไทย

ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมโดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

จากกราฟที่ 2 แสดงให้เห็นถึง มูลค่าการนำเข้าและส่งออกชิปวงจรรวมของไทย รายเดือน ปี 2020-2021 (ม.ค.-ก.พ.) โดยไทยมีการนำเข้าชิปวงจรรวมลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 และคาดว่าการนำเข้าดังกล่าวจะลดลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิปวงจรรวมที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

 

ปัญหาการขาดแคลนชิปวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

คาดการณ์มูลค่าความเสียหายของการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ปี 2021 หากเกิดปัญหาชิปวงจรรวมขาดแคลน

มูลค่าการส่งออกและมูลค่าความเสียหายของการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ปี 2021

ชิปขาดแคลน Semiconductor shortage คาดการณ์มูลค่าความเสียหาย

ที่มา: แผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

หมายเหตุ: กลุ่มสินค้าอ้างอิงตามศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU)
คาดการณ์โดยศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU)
6 , 7 มูลค่าการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ใช้ชิปวงจรรวมเป็นส่วนประกอบประมาณการโดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ข้อมูลมูลค่าการส่งออกจากศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU)
คาดการณ์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

แผนกนโยบายและแผนสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้คาดการณ์มูลค่าความเสียหายของการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ปี 2021 หากเกิดปัญหาชิปวงจรรวมขาดแคลน โดยใช้ข้อสมมติพื้นฐานที่ว่าเมื่อเกิดปัญหาชิปวงจรรวมขาดแคลนจะทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีชิปวงจรรวมเป็นส่วนประกอบได้

สำหรับอัตราการเติบโต (Growth) ในปี 2021 ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการคำนวณนั้นเป็นอัตราการเติบโตที่คาดการณ์โดยศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU) โดยหากการส่งออกสินค้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปตามอัตราการเติบโตที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้ในปี 2021 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ใช้ชิปวงจรรวมเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น 42,096 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น 1) มูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า 14,526 ล้านเหรียญสหรัฐ 2) มูลค่าการส่งออกสินค้าไฟฟ้ากำลัง 4,112 ล้านเหรียญสหรัฐและ 3) มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 23,457 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาชิปวงจรรวมขาดแคลนและการส่งมอบชิปวงจรรวมล่าช้า จนผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มี ชิปวงจรรวมเป็นส่วนประกอบได้นั้น คาดว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ทั้งนี้ แผนกนโยบายและแผนสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยของ Susquehanna Financial Group ในการคาดการณ์มูลค่าความเสียหาย โดยงานวิจัยดังกล่าว เผยว่า ระยะเวลาในการส่งมอบชิปของผู้ผลิต (Lead Time) ในไต้หวันนั้น เพิ่มขึ้นเป็น 17 สัปดาห์ในเดือนเมษายน 20219

Advertisement

โดยหากผู้ผลิตส่งมอบชิปวงจรรวมล่าช้าและผู้ประกอบการไทยต้องรอชิปวงจรรวมเป็นระยะเวลา 17 สัปดาห์ จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ใช้ชิปวงจรรวม เป็นส่วนประกอบในปี 2021 ไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ เมื่อนำระยะเวลาในการส่งมอบชิปของผู้ผลิต10 คูณเข้ากับมูลค่าคาดการณ์การส่งออกสินค้าที่ใช้ชิปวงจรรวมเป็นส่วนประกอบ ในปี 2021 จะทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยในปี 2021 ทั้งสิ้น 13,891 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น 1) มูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า 4,793 ล้านเหรียญสหรัฐ 2) มูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกสินค้าไฟฟ้ากำลัง 1,357 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 3) มูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 7,740 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ มูลค่าความเสียหายข้างต้นเป็นเพียงมูลค่าความเสียหายทางตรงของการส่งมอบชิปวงจรรวมล่าช้าเท่านั้น ไม่รวมถึงมูลค่าความเสียหายทางอ้อมจากกระบวนการผลิต เช่นการปิดไลน์การผลิตชั่วคราวเนื่องจากไม่มีวัตถุดิบสำคัญอยู่

จากปัญหาห่วงโซ่การผลิตชิปวงจรรวมที่มีความยืดหยุ่นน้อยจนทำให้เกิดการขาดแคลนชิปวงจรรวมอยู่ในขณะนี้นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตโลกเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องอาศัยชิปวงจรรวมเป็นวัตถุดิบหลักหรือชิ้นส่วนสำคัญในการนำไปผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ ซึ่งอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเองก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับผู้ประกอบการในไทยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปวงจรรวมนั้น ส่วนใหญ่มีการดำเนินกิจการในลักษณะของการรับจ้างประกอบชิ้นส่วนและการทำ IC Packaging หรือการบรรจุภัณฑ์วงจรรวม

ขณะที่บางส่วนมีการดำเนินกิจการในรูปแบบของการออกแบบชิปวงจรรวมหรือวงจรรวม ซึ่งผู้ประกอบการที่ออกแบบชิปวงจรรวมเองนั้น ยังคงต้องจ้างบริษัทอื่นให้ผลิตและทำการทดสอบชิปวงจรรวมแทนตนเอง โดยปัญหาการขาดแคลนชิปที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถรับจ้างประกอบชิ้นส่วน ทำ IC Packaging และผลิตวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) ได้ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ที่ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยี เช่น การผลิตอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Hard Disk Drive) การผลิตเครื่องปรับอากาศ การผลิตตู้เย็น การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ เป็นต้น นอกจากผลกระทบข้างต้นแล้ว ผู้ประกอบการในไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาการรอสินค้าชิปวงจรรวมเป็นเวลานาน เนื่องจากผู้ผลิตส่งมอบชิปล่าช้ากว่ากำหนด

โดยผู้ประกอบการไทยรายหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการในไทยต้องรอการส่งมอบชิปวงจรรวมจากประเทศผู้ผลิตเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวนาน หรือมี Lead Time นานถึง 45 สัปดาห์ ซึ่ง Lead Time ที่ยาวนานนี้ ทำให้การผลิตของผู้ประกอบการไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ รวมถึงอาจทำให้ผู้ประกอบการต้องชะลอการผลิตหรือลดกำลังการผลิตลง ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบันได้

และอาจนำไปสู่ปัญหาสินค้าขาดตลาดได้ในอนาคต และนอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนชิปวงจรรวมยังส่งผลกระทบต่อราคาของชิปวงจรรวมอีกด้วย โดยทางผู้ผลิตชิปวงจรรวมบางรายได้มีการยืนยันออกมาแล้วว่า ได้มีการปรับขึ้นราคาชิปวงจรรวมไปแล้วถึง 2 ครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี11 ซึ่งคาดว่าการปรับขึ้นราคาชิปวงจรรวม 2 ครั้งที่ผ่านมา จะส่งผลทำให้ราคาของสินค้าที่ใช้ชิปเป็นส่วนประกอบปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

สรุป 

ปัญหาการขาดแคลนชิปวงจรรวมในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหา เนื่องจากห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ของอุตสาหกรรมการผลิตชิปวงจรรวมมีความยืดหยุ่นน้อย ขั้นตอนการผลิตชิปวงจรรวมมีความซับซ้อนสูงจึงต้องใช้เครื่องจักรกลเฉพาะทางในการผลิต รวมถึงผู้ผลิตยังต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลสำหรับการสร้างโรงงานอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในหลาย ๆ ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนทั่วโลกต่างก็เร่งดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปวงจรรวม โดยในส่วนของภาครัฐนั้น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้มีการลงนามรับรองคำสั่งพิเศษเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปวงจรรวมที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 100 วัน ขณะที่ภาคเอกชนอย่างบริษัทผลิตชิปนั้นก็ได้มีการวางแผนแก้ไขปัญหาเช่นกัน ตัวอย่างเช่น 1) บริษัท Intel ได้ประกาศสร้างโรงงานผลิตชิปวงจรรวมเพิ่มในสหรัฐฯ และยุโรป 2) บริษัท Samsung ประกาศสร้างโรงงานผลิตชิปวงจรรวมเพิ่มเติมในสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ และ 3) บริษัท TSMC ประกาศสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสียภายในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนำน้ำที่ถูกบำบัดมาใช้ในการผลิตชิปวงจรรวม รวมถึงมีแผนการที่จะขยายโรงงานหรือสร้างโรงงานการผลิตเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เนื่องจากการขยายการผลิตและการก่อสร้างโรงงานการผลิตขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการซึ่งอาจใช้ระยะเวลาถึง 2-3 ปี อีกทั้งเครื่อง EUV ที่ใช้ในกระบวนการผลิตชิปวงจรรวมของบริษัท ASML ประเทศเนเธอร์แลนด์ จำนวน 100 เครื่อง ที่มีการส่งออกไปทั่วโลกนั้น ได้ถูกผูกขาดการซื้อจากบริษัท TSMC ไปแล้ว จำนวน 70 เครื่อง12 ทำให้บริษัทผู้ผลิตชิปวงจรรวมรายอื่นที่วางแผนขยายโรงงานการผลิต อาจไม่ได้รับเครื่อง EUV ในจำนวนที่ต้องการ และสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปวงจรรวมในประเทศไทยนั้น ภาครัฐภาคเอกชนของไทยควรร่วมมือกันในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ภาครัฐเองก็ควรเร่งออกมาตรการเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว รวมถึงประชาสัมพันธ์และแนะแนวทางให้ผู้ผลิตรายย่อยในประเทศปรับตัวและสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ส่วนภาคเอกชนนั้น อาจจะต้องมีการวางแผนการผลิตใหม่ เช่น วางแผนดำเนินการสั่งซื้อชิปวงจรรวมล่วงหน้า

หมายเหตุ:

https://www.scmp.com/tech/article/3133997/global-chip-shortage-taiwan-promises-keep-world-supplied-chips-wait-times

10 หากระยะเวลาในการส่งมอบชิปของผู้ผลิต (Lead Time) คือ 17 สัปดาห์ และจำนวนสัปดาห์ทั้งหมดใน 1 ปี คือ 52 สัปดาห์ ดังนั้น ระยะเวลาในการส่งมอบชิปที่ใช้คำนวณ คือ 17/52

11 https://www.theguardian.com/business/2021/mar/21/global-shortage-in-computer-chips-reaches-crisis-point

12 https://asia.nikkei.com/Business/Tech/Semiconductors/How-Samsung-fell-behind-TSMC-in-the-race-for-cutting-edge-chips

 

#ผลกระทบ ชิปขาดแคลน #ผลกระทบ ชิปขาดตลาด #อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย 2021 #Chip Shortage 2021 #Semiconductor Shortage 2021#ชิปขาดตลาด #ชิปขาดแคลน #ผู้ผลิตชิป #TSMC #Samsung Electronics #Intel #โรงงานผลิตชิปวงจรรวม #ปัญหาการขาดแคลนชิปวงจรรวมในตลาดโลก #ชิปวงจรรวม ขึ้นราคา #อุตสาหกรรมชิปวงจรรวม#วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #mreportth

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH