ภาวะเศรษฐกิจโลก ไตรมาสที่ 4/2565

ภาวะเศรษฐกิจโลก ไตรมาส 4/2565

อัปเดตล่าสุด 17 มี.ค. 2566
  • Share :
  • 1,083 Reads   

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สรุปภาวะเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอยู่ในทิศทางชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ราคาเชื้อเพลิง และอาหารเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

รวมถึง แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด และการใช้มาตรการ Zero-Covid ของจีน ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี การผ่อนปรนมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศต่าง ๆ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีทิศทางชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอย่างต่อเนื่องเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายหลังการเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศของแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการดำเนินมาตรการเปิดประเทศเร็วขึ้นกว่าที่คาด ส่งผลให้เศรษฐกิจในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัว

สถานการณ์ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีความผันผวน ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้ มีสาเหตุมาจาก (1) แนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ของจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก ทำให้อุปสงค์น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น (2) การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. มีราคาถูกลง (3) กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) มีมติปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565 ถือเป็นการปรับลดกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโอเปก นับตั้งแต่ พ.ศ. 2563 และเป็นการปรับลดอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 และ (4) ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เช่น สหรัฐฯ พยายามเพิ่มอุปทานน้ำมัน แต่เผชิญสถานการณ์ที่กลุ่มโอเปกปรับลดกำลัง การผลิตจึงไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้

สำหรับประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด อาทิ การที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง กดดันการส่งออกและการลงทุน เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลาง วิกฤตพลังงานที่ยืดเยื้อ และนโยบายการเงินที่เข้มงวดทั่วโลก ส่งผลให้บางประเทศหลักมีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ส่งผลให้ภาคการผลิตชะลอตัวลง 

 

อ่านย้อนหลัง:

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH