ทำไม “ญี่ปุ่น” ยก "เวียดนาม" เป็นประเทศน่าลงทุนอันดับ 1 ในอาเซียน

ทำไม “ญี่ปุ่น” ยก "เวียดนาม" เป็นประเทศน่าลงทุนอันดับ 1 ในอาเซียน

อัปเดตล่าสุด 18 เม.ย. 2565
  • Share :
  • 7,069 Reads   

ประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในอาเซียนสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นแล้ว เวียดนามเป็นคำตอบแรก โดยเฉพาะเมื่อเกิดสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ยิ่งทำให้ “เวียดนาม” กลายเป็น “เป้าหมายการลงทุนอันดับ 1 ในอาเซียน” ของธุรกิจญี่ปุ่น อะไรเป็นปัจจัยผลักดันเรื่องนี้ ติดตามในบทความนี้ครับ

Advertisement

วันที่ 30 มีนาคม 2022 สำนักข่าว Nikkan Kogyo Shimbun เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ และบทสัมภาษณ์ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) สาขาฮานอย ไว้ดังนี้

โอกาสจากการเติบโตของเวียดนาม

เมื่อเดือนมกราคม 2021 เวียดนามได้ประกาศตั้งเป้าหมายยกระดับประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2045 ซึ่งจะเป็นวาระครบรอบร้อยปีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม แม้ว่าในปี 2021 จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 แต่เวียดนามก็ยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วย GDP ที่โตขึ้น 2.6% และคาดว่าจะเติบโตอีก 6 - 6.5% ในปี 2022 นี้

การฟื้นตัวที่รวดเร็วและการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อผนวกกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ทำให้รัฐบาลเวียดนามประกาศนโยบายด้านพลังงานออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งมีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนมากถึง 40% ของพลังงานทั้งประเทศภายในปี 2045

ทำไม “ญี่ปุ่น” ยก "เวียดนาม" เป็นประเทศน่าลงทุนอันดับ 1 ในอาเซียน

ผู้บริโภครายได้ปานกลาง ตลาดกำลังโตของเวียดนาม

ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) รายงานว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในเวียดนามอยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก โดยมีการสนับสนุนเงินทุนไปแล้วรวมกว่า 190 โครงการ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมบริการก็กำลังเฟื่องฟูและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ และธุรกิจจำหน่ายนาฬิกาข้อมือ 

นอกจากนี้ ทางธนาคารเปิดเผยว่า สถาบันการเงินของญี่ปุ่นมีโครงการผลักดัน SME ญี่ปุ่นให้เข้าลงทุนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

สาเหตุหลักที่ญี่ปุ่นเลือกลงทุนเวียดนาม คือ กำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งจำนวนผู้บริโภคฐานะปานกลางของเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคกลุ่มนี้เองคือลูกค้าเป้าหมายของสินค้าญี่ปุ่นทั้งสิ้น โดยเฉพาะในตลาดยานยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการญี่ปุ่นสามารถใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมเข้าประกอบธุรกิจได้ง่าย

บริษัท Toyota Corolla Nankai ตัวแทนจำหน่ายโตโยต้า แสดงความเห็นว่า ประสบการณ์การขายและการซ่อมบำรุงยานยนต์จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในประเทศที่ตลาดยานยนต์กำลังเติบโต ในเดือนสิงหาคม 2020 JBIC ได้ปล่อยกู้ให้กับ Toyota Corolla Nankai เป็นเงินรวม 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการร่วมทุนกับ Sumitomo Mitsui Banking Corporation เพื่อขยายการลงทุนที่เวียดนาม

สมาคมยานยนต์เวียดนามรายงานว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา จำนวนยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมอยู่ที่ 218,734 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 3% ซึ่งแม้จะไม่มากนัก แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าตลาดเติบโตได้ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19

ส่วนในอุตสาหกรรมการจำหน่ายนาฬิกาข้อมือ ซึ่ง SME ญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนเป็นอย่างมากนั้น JBIC เปิดเผยว่าเริ่มมีการสนับสนุนเงินลงทุนให้กับผู้ประกอบการตั้งแต่ปี 2013 และพบว่าความนิยมในการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเป็นอย่างมากจนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2021 ที่ผ่านมา JBIC ได้อนุมัติเงินสนับสนุนให้กับ SME ญี่ปุ่น และให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกในเวียดนาม เพื่อตอบรับความต้องการชิ้นงานพลาสติกฉีดขึ้นรูป, พลาสติก Precision, และพลาสติกอื่น ๆ ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิดอีกด้วย

นาย Toru Yasuiin หัวหน้าผู้แทน JBIC ฮานอย ชูจุดแข็งเวียดนาม “เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมขั้นสูง”

ทำไม “ญี่ปุ่น” ยก "เวียดนาม" เป็นประเทศน่าลงทุนอันดับ 1 ในอาเซียน

นาย Toru Yasuiin - JBIC ฮานอย

เพราะเหตุใด เวียดนามจึงได้รับโหวตจากบริษัทญี่ปุ่นให้เป็น “ประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในอาเซียน”

“เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่น่าดึงดูดเนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และความพยายามในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบเปิด มีหลายบริษัทที่หยิบยกเหตุผลว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มี “ศักยภาพในการเติบโตในอนาคต”

หากมองในด้านความความแข็งแกร่งของซัพพลายเชนแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตมีแนวโน้มที่จะกระจายฐานการผลิตให้มีความหลากหลาย และเวียดนามได้ขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับบริษัทญี่ปุ่น"

ในการประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 เวียดนามประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน การแสดงออกนี้มีผลอย่างไรต่อญี่ปุ่น

"เวียดนามกำลังพิจารณาแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากปัจจุบันเป็นสองเท่าภายในปี 2030 และสี่เท่าภายในปี 2045 โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นมากกว่า 40% นี่เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคากำลังได้รับความสนใจ และบริษัทญี่ปุ่นก็กำลังคืบคลานเข้าสู่ตลาด"

อุปสรรคของการลงทุนในเวียดนามคืออะไร

“ผู้ประกอบการญี่ปุ่นหลายรายแสดงความกังวลถึงความโปร่งใสในการบังคับใช้นโยบาย ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะต้องประสานงานระหว่างเวียดนามและผู้ประกอบการให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องค่าแรงนั้น ในท้ายสุด ทุกประเทศจะมีค่าแรงสูงขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณาไปที่ศักยภาพในการเติบโต และกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า”

 

#ประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในอาเซียน 2564 #ประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในอาเซียน 2565 #ลงทุนเวียดนาม #เวียดนาม #ญี่ปุ่นลงทุนเวียดนาม #บริษัทญี่ปุ่น #ธุรกิจญี่ปุ่น #SME #อุตสาหกรรมยานยนต์ #อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ #อุตสาหกรรมพลาสติก  #อุตสาหกรรมการผลิต #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH