ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ตุลาคม 2566

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2566 เดือน ต.ค. หดตัว 4.29% ลดต่อเนื่อง 7 เดือนติด

อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 2566
  • Share :
  • 3,070 Reads   

สศอ. เผยดัชนี MPI เดือน ต.ค. 2566 หดตัวร้อยละ 4.29 คาดการณ์ดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตฯ ปี 2567 ขยายตัว 2 - 3%

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 89.38 หดตัวร้อยละ 4.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.04 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนยังไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ พร้อมประมาณการดัชนี MPI ปี 2566 หดตัวร้อยละ 4.8 ด้าน GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 หดตัวร้อยละ 3.0 และประมาณการดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.0 – 3.0

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 89.38 หดตัวร้อยละ 4.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.04 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 56.83 และ 10 เดือนแรกอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 59.53 โดยเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าเป้า เนื่องจากนโยบายของประเทศจีนที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และนโยบายจีนฟรีวีซ่าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2566 ยังขยายตัวจากฐานต่ำของปีก่อน ซึ่งยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์การส่งออกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงมีนโยบายช่วยลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น นโยบายลดค่าไฟฟ้าและตรึงราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น
         
นอกจากนี้ ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพฤศจิกายน 2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง” จากปัจจัยภายในประเทศที่ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน และดัชนีปริมาณสินค้านำเข้าของไทยปรับลดลง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทย 3 เดือนข้างหน้า “ชะลอตัวในช่วงขาลง” และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า ลดลงจากเดือนก่อน ตามความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

นางศิริเพ็ญ กล่าวว่า สศอ. ได้ประมาณการดัชนี MPI ปี 2566 หดตัวร้อยละ 4.8 ด้าน GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 หดตัวร้อยละ 3.0 แต่ประมาณการดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.0 – 3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทย กับประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงมีทิศทางขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐ ที่คาดว่าจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีความชัดเจนมากขึ้น  ในปีหน้า ทั้งนี้ยังต้องติดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยาวนานและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้าง อีกทั้งต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากระดับราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง กดดันภาคการผลิตและกำลังซื้อผู้บริโภค และความผันผวนของค่าเงิน รวมทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญที่เป็นประเด็นให้ต้องติดตามในระยะต่อไป

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนตุลาคม 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.48 จากการผลิตสินค้าในกลุ่มที่ใช้สำหรับการเดินทางเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเครื่องบิน จากกิจกรรมการเดินทางในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน

พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.49 โดยการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ปีก่อนความต้องการในกลุ่มเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้นลดลง ทำให้ผู้ผลิตหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรในช่วงปีก่อน

สายไฟและเคเบิลอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.78 จากสายไฟฟ้าเป็นหลัก  เนื่องจากยังคงมีคำสั่งซื้อจากการไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีความต้องการจากภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น

เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.09 จากจี้ แหวน สร้อย และต่างหู เป็นหลัก จากการผลิตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ประกอบกับการเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.16 จากการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษคราฟท์ เนื่องจากในปีก่อนวัตถุดิบมีราคาสูง ผู้ผลิตจึงปรับลดการผลิตลง โดยในปีนี้การผลิตเริ่มกลับมาเป็นปกติ รวมทั้งผู้ผลิตบางรายเร่งผลิตเพื่อสำรองสินค้า เนื่องจากมีแผนการหยุดซ่อมบำรุงในเดือนหน้า

 

#ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 2566 #ดัชนี mpi 2566 #ผลผลิตอุตสาหกรรม industrial production #การส่งออกอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #สศอ.

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH