ภาวะเศรษฐกิจโลก ไตรมาสที่ 3/2565

ภาวะเศรษฐกิจโลก ไตรมาส 3/2565

อัปเดตล่าสุด 23 ธ.ค. 2565
  • Share :
  • 1,427 Reads   

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สรุปภาวะเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยขยายตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งบรรยากาศการค้าและการผลิตขยายตัวได้ดี ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานหลายประเทศอยู่ในภาวะทรงตัวและมีแนวโน้มปรับตัวลงภายหลังการแพร่ระบาดทยอยคลี่คลายลง

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีทิศทางเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงไทย ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ในภาวะทรงตัว ผลจากการค้าระหว่างประเทศในภาพรวมขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ส่งผลให้ภาคการผลิตเติบโตตามไปด้วย ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง

สำหรับอัตราการว่างงานหลายประเทศอยู่ในระดับทรงตัว ในขณะที่ไทยอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ธนาคารกลางมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ อยู่ในกรอบร้อยละ 3.00-3.25 เพื่อบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

Advertisement

สถานการณ์ทิศทางราคน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนของอุปทานการผลิต โดยกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร (โอเปกพลัส) ยังคงไม่เพิ่มกำลังการผลิตและมีแนวโน้มลดกำลังการผลิต เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบ ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบที่มีอย่างต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบ ไตรมาส 3 ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 96.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 71.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบ NYMEX เดือนกันยายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 83.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล

ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลก อาทิ ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ภาวะตลาดและต้นทุนการกู้ยืมเงินเพิ่มสูงขึ้นเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจบางประเทศอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น รวมทั้งความยืดเยื้อของภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ จีน และไต้หวัน อาจนำไปสู่การดำเนินมาตรการคว่ำบาตรและมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 การลดข้อจำกัดจากการเดินทางรองรับการเปิดประเทศ และการส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัว กอปรกับแรงหนุนจากอุปสงค์คงค้างที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

 

อ่านย้อนหลัง:

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH