รถยนต์ไฟฟ้า ปรากฏการณ์การลงทุนโลกในปี 2030

“รถยนต์ไฟฟ้า” ปรากฏการณ์สงครามเย็นของการลงทุนโลก ไมล์สโตนแรกปี 2030

อัปเดตล่าสุด 29 พ.ย. 2564
  • Share :
  • 1,658 Reads   

มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมกระตุ้นการลงทุนอีวี คาดปี 2030 มูลค่าการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแตะ 5.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

ในเวลาไม่ถึง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตยานยนต์มีแผนลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องรวมแล้วเป็นมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นในหลายประเทศได้กระตุ้นให้การลงทุนเหล่านี้มีแนวโน้มคืบหน้ารวดเร็วยิ่งขึ้น 

ผลสำรวจของรอยเตอร์ล่าสุดซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากค่ายรถและสำนักวิเคราะห์หลายราย พบว่า ในปี 2030 มูลค่าการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอยู่ที่ 5.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังคงกังวลในแง่ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า หากไม่มีมาตรการสนับสนุนผู้ใช้รถ หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ความต้องการรถอีวีก็อาจจะน้อยกว่าการคาดการณ์ได้

Brian Maxim หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ระบบขับเคลื่อนยานยนต์จาก AutoForecast Solutions แสดงความเห็นว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนี้มีลักษณะคล้ายกับสงครามเย็น คือ

“เมื่อมีค่ายใดค่ายหนึ่งลงทุนอีวีแล้ว ค่ายอื่นก็ต้องรีบลงทุนตามเพื่อไม่ให้ถูกทิ้งห่าง”

อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นเรื่องใหม่ ทำให้ผู้ผลิตหลายรายคาดการณ์ยอดผลิตได้ยาก เนื่องจากไม่อาจประเมินได้แน่ชัดว่าผู้บริโภคจะให้การยอมรับรถยนต์ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน และการลงทุนเทคโนโลยีใหม่อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้กำไรลดลงเป็นเวลานานหลายปี

AlixPartners รายงานว่า ในปี 2020 ค่ายรถทั่วโลกมีการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้ารวมแล้วเป็นเงิน 2.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025

ทางด้านของเทสล่า (Tesla) ผู้ผลิตรถอีวีเบอร์หนึ่งของโลก ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่า Volkswagen AG, Toyota Motor Corp, Ford Motor, และ General Motors รวมกันราว 2 เท่า ก็มีแผนลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อก่อสร้าง Gigafactory แห่งใหม่ในบริเวณเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และเมืองออสติน สหรัฐอเมริกา

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลหลายประเทศได้เพิ่มแรงกดดันไปยังค่ายรถ ด้วยการออกมาตรการผลักดันให้ยุติการจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป รวมถึงยานยนต์ไฮบริด เพื่อให้เปลี่ยนมาใช้รถอีวี 100% ในช่วง 10 - 15 ปีข้างหน้านี้

โดยปัจุบัน มีบางประเทศที่เริ่มประกาศเป้าหมายเลิกจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในปี 2030 เช่น สวีเดน และสิงคโปร์ 

Volkswagen แม้จะอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากคดี Dieselgate หรือการโกงค่าไอเสียในปี 2016 แต่ก็ยังคงเป็นบริษัทที่มีการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยแผนลงทุน 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของมูลค่าการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2030 ซึ่งจากแผนการลงทุนของบริษัท เปิดเผยว่า เงินลงทุนเหล่านี้จะถูกใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพแบตเตอรี่เพื่อลดต้นทุนของรถอีวีให้น้อยลงไม่ต่างจากค่ายอื่น ๆ อีกทั้งยังมีแผนทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าหลายล้านคันในยุโรป จีน และอเมริกาเหนืออีกด้วย 

และหากแบ่งตามรายประเทศ พบว่า สหรัฐอเมริกามี General Motor และ Ford เป็นผู้นำการลงทุน ด้วยเงินลงทุนรวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

ทางด้านเยอรมนี มีแผนลงทุน 1.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 โดยมีค่ายที่เผยแผนลงทุนแล้วคือ Volkswagen และ BMW

ส่วนในจีน ก็มีการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้าโดยมี Volkswagen และพาร์ทเนอร์ของ General Motor ในจีนอย่าง SAIC Motor เป็นหัวหอก ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นมีแผนการลงทุนที่ต่ำกว่าผู้เล่นรายหลักประเทศอื่น โดยบริษัทที่เผยแผนลงทุนรถอีวีจนถึงปี 2030 แล้วมีเพียงฮอนด้าและนิสสัน ซึ่งมียอดลงทุนรวมที่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้นับเฉพาะการลงทุนของค่ายรถในด้านรถยนต์ไฟฟาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ยังไม่นับรวมเงินลงทุนของบริษัทแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาร่วมวงสนับสนุนการผลิตในซัพพลายเชน ซึ่งหากนับรวมทั้งหมดแล้ว เชื่อได้ว่า ปี 2030 จะมีตัวเลขการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีมากกว่านี้อย่างแน่นอน

  • อ่านแนวโน้มตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คลิก
  • รถอีวี ผู้เล่นใหม่มีใคร? ค่ายรถมองยังไงบ้าง? คลิก

 

#รถยนต์ไฟฟ้า #EV #Electric Vehicle #ลงทุน #รถยนต์ไฟฟ้า #อุตสาหกรรมยานยนต์ #เอ็ม รีพอร์ต #M Report #mreportth #Mreport #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH