ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2567 เดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13%

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2567 เดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13%

อัปเดตล่าสุด 30 เม.ย. 2567
  • Share :
  • 417 Reads   

สศอ. เผยดัชนี MPI มี.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัวร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.65 จากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 8 รับเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าหลังปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

30 เมษายน 2567 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัวร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 62.39

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัวร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 62.39 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 100.85 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.65 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.45 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 8 จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับการส่งออกลดลงเกิดจากความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้าในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม รวมถึงการเร่งใช้งบประมาณปี 2567 ของรัฐบาล คาดว่าจะส่งผลบวกให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมีนาคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” จากปัจจัยภายในประเทศหลังปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลง ส่งสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับ  เดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น ตามภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มฟื้นตัว

“ประเด็นที่ต้องจับตามอง คือ การปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลทุกชนิด 0.50 บาทต่อลิตร ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2567 ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเป็น 30.94 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ต้นทุนผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การฟอกและย้อมผ้า และเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น อาจทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นกระทบค่าครองชีพของประชาชน และเกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากภาวะราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น โดยทาง สศอ. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป” นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมีนาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.32 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในการเดินทางที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
         
สตาร์ช และผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช (แป้งมันสำปะหลัง) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 47.65 จากผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง เป็นหลัก ตามปริมาณหัวมันสดที่เข้าสู่โรงงานมากกว่าปีก่อน หลังปัญหาโรคใบด่างเริ่มลดลง ประกอบกับหัวมันสดราคาดีส่งผลให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก

อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.45 จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารสุกรสำเร็จรูป เป็นหลัก โดยอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวจากตลาดส่งออกตามความนิยมในการเลี้ยงสุนัขและแมว สำหรับอาหารสุกรเพิ่มขึ้นตามปริมาณหมูเลี้ยงจากเกษตรกรที่มีปริมาณมากกว่าปกติ

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนมีนาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.63 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศที่ลดลง  ร้อยละ 33.15 จากกำลังซื้อที่อ่อนแอและหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อต่อไป ประกอบกับการส่งออกลดลงร้อยละ 9.33 จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์ขนาดเล็ก หลังความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้า (ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ปรับตัวลดลง 

น้ำตาล หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 25.26 จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายดิบ กากน้ำตาล และน้ำตาลทรายขาว เป็นหลัก เนื่องจากผลผลิตอ้อยสดในปีนี้มีน้อยกว่าปีก่อนจากปัญหาภัยแล้งฝนทิ้งช่วงทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบบางพื้นที่ เกษตรกรหมุนเวียนไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ได้ราคาดีกว่า เช่น มันสำปะหลัง เป็นต้น

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.33 จากผลิตภัณฑ์ Integrated circuits (IC) เป็นหลัก ตามการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อการบริโภคและลงทุน รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่กระทบต่ออุตสาหกรรม      

 

#ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 2567 #Thailand MPI Index 2024 #ดัชนี mpi 2567 #ผลผลิตอุตสาหกรรม industrial production #การส่งออกอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #สศอ.

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH